ภาพรวมของความสมบูรณ์แบบ 6 ประการ: บารมี 6 ประการ

ทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการเป็นสภาพจิตใจที่นำไปสู่การหลุดพ้นและการตรัสรู้ ในฐานะที่เป็นยาแก้พิษต่ออุปสรรคใหญ่ ๆ ทางจิตใจของเรา เช่น ความโกรธ ความโลภ ความริษยา ความเกียจคร้าน และอื่น ๆ ทัศนคติทั้งหกประการสามารถทำงานร่วมกันและทำให้เราสามารถจัดการกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตของเราได้ การพัฒนาทัศนคติเหล่านี้ทำให้เราสามารถตระหนักถึงศักยภาพที่เต็มรูปแบบของเราได้อย่างช้า ๆ แต่แน่นอน อันนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและผู้อื่น

พระพุทธเจ้าได้ระบุสภาพจิตใจที่สำคัญ 6 ประการที่เราต้องพัฒนาหากต้องการบรรลุเป้าหมายเชิงบวกในชีวิต โดยปกติแล้ว สภาพจิตใจทั้งหกนี้มักจะได้รับการแปลว่า “ความสมบูรณ์แบบ” เนื่องจากทำให้มันสมบูรณ์แบบอย่างเต็มที่เหมือนที่พระพุทธเจ้ามี เราก็สามารถบรรลุการหลุดพ้นและการตรัสรู้ได้เช่นกัน ผมชอบที่จะเรียกมันว่า "ทัศนคติที่กว้างไกล" มากกว่า ตามชื่อภาษาสันสกฤตว่าปารมิตา (paramita) เพราะด้วยทัศนคติเหล่านี้สามารถนำเราไปถึงฝั่งมหาสมุทรของปัญหาของเราที่ห่างไกลได้ 

เราไม่เพียงแค่เก็บสภาพจิตใจทั้ง 6 ประการนี้ไว้เป็นรายการที่ดูดีเท่านั้น แต่เป็นสภาพจิตใจที่เราจำเป็นต้องผสมผสานเข้าด้วยกัน และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ด้วยความสอดคล้องกับระดับแรงจูงใจทั้งสามระดับที่พบในขั้นตอนของหนทางการตรัสรู้หรือลัมริม (lam-rim) (ขั้นตอนตามลำดับเพื่อการตรัสรู้) การพัฒนาสิ่งเหล่านี้ในชีวิตของเราตอนนี้จะนำประโยชน์มหาศาลมาให้กับเราดังนี้ 

  • ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงและแก้ไขปัญหาได้
  • ช่วยให้เรากำจัดอารมณ์และสภาพจิตใจที่รบกวนได้
  • ช่วยให้เรามีพลังอำนาจในการช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีที่สุด

เมื่อเรากำลังฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทัศนคติเชิงบวกเหล่านี้ เราจำเป็นต้องคำนึงถึงเป้าหมายเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งอย่าง สิ่งนี้ทำให้เรามีแรงจูงใจที่ดีในการพัฒนาต่อไปเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับทัศนคติเชิงบวกเหล่านั้นต่อไป

1. ความเอื้อเฟื้อ

ความเอื้อเฟื้อคือ ความเต็มใจที่จะให้ผู้อื่นในสิ่งที่จำเป็น ซึ่งประโยชน์ของมันคือ 

  • ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าในตนเองที่เรามีบางสิ่งที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงหรือหลุดพ้นจากปัญหาการมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำและความรู้สึกหดหู่
  • ช่วยเอาชนะความยึดติด ความตระหนี่ และความขี้เหนียว ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่ไม่มีความสุขอันนำมาซึ่งปัญหาซ้ำซาก
  • ช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ

2. การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม

การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมคือ การที่เราละเว้นจากพฤติกรรมที่เป็นไปในทางทำลายโดยตระหนักถึงข้อเสียของมัน ประโยชน์ของมันคือ 

  • ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำ การพูด และการคิดที่เป็นอันตราย มันจะสร้างพื้นฐานความไว้วางใจให้กับผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับมิตรภาพที่แท้จริง
  • ช่วยให้เราเอาชนะพฤติกรรมเชิงลบตามแรงบีบบังคับ และพัฒนาการควบคุมตนเองที่จะนำไปสู่จิตใจที่สงบและมั่นคงมากขึ้น
  • ช่วยป้องกันไม่ให้เราทำร้ายผู้อื่น

3. ความอดทน 

ความอดทนคือ ความสามารถในการทนทานต่อความยากลำบากโดยไม่โกรธหรือไม่พอใจ ประโยชน์ของมันคือ 

  • ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการสร้างภาพที่น่าเกลียดเมื่อมีบางสิ่งผิดพลาด หรือเมื่อเราหรือคนอื่นทำผิดพลาด
  • ช่วยให้เราเอาชนะความโกรธ ความไม่อดทน ความใจแคบ ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่รบกวน  เราสามารถสงบสติอารมณ์ได้เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก
  • ช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีขึ้นเพราะเราจะไม่โกรธพวกเขาเมื่อพวกเขาไม่ทำตามคำแนะนำของเรา ทำผิดพลาด กระทำหรือพูดจาไร้เหตุผล หรือทำให้เราลำบาก

4. ความเพียร

ความเพียรเป็นความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษที่จะไม่ยอมแพ้เมื่อการเดินทางนั้นยากลำบาก แต่จะเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องไปจนจบ ประโยชน์ของมันคือ

  • ช่วยให้เรามีพละกำลังที่จะทำในสิ่งที่เราได้เริ่มต้นให้แล้วเสร็จโดยไม่ท้อถอย
  • ช่วยให้เราเอาชนะความรู้สึกไม่เพียงพอและเกียจคร้านในการผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำให้เราไขว้เขวหันไปสนใจไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ
  • ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำงานที่ยากที่สุดได้ และป้องกันไม่ให้เราละทิ้งผู้ที่ช่วยเหลือยากที่สุดไป 

5. ความมั่นคงทางจิตใจ (สมาธิ) 

ความมั่นคงทางจิตใจ (สมาธิ) เป็นสภาพจิตใจที่เป็นอิสระจากความใจลอย ความมัว และอารมณ์เสีย ประโยชน์ของมันคือ

  • ช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดและอุบัติเหตุ
  • ช่วยให้เราเอาชนะความเครียดและความวิตกกังวล การตื่นเต้นมากเกินไป อาการเหม่อลอย หรือความกระวนกระวายใจ
  • ช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งที่คนอื่นพูดและพฤติกรรมของพวกเขา ดังนั้น เราจึงเห็นวิธีการที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ดีขึ้น

6. การรับรู้ที่แยกแยะ (ปัญญา) 

การรับรู้ที่แยกแยะ (ปัญญา) คือ สภาพจิตใจที่แยกแยะได้อย่างถูกต้องและมีความแน่นอนระหว่างสิ่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกับสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ประโยชน์ของมันคือ 

  • ช่วยให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนและถูกต้องว่าเราจะต้องทำอะไรและควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เป็นการหยุดไม่ให้เราทำบางสิ่งที่เราจะเสียใจในภายหลัง
  • ช่วยให้เราเอาชนะความไม่แน่ใจและความสับสน
  • ช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ของผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น เราจึงรู้ว่าควรพูดและทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด
Top