ความเพียรที่ถูกต้อง สติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้อง

ภาพรวม

เรากำลังดูที่การฝึกฝนทั้งสามประการ และวิธีการฝึกฝนเหล่านั้นว่า สามารถช่วยเราในชีวิตประจำวันได้โดยผ่านทางการฝึกฝนตามแนวทางของมรรค 8 ประการได้อย่างไร การฝึกฝนทั้งสามอย่าง มีดังนี้

  • วินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม
  • สมาธิ
  • การแยกแยะการรับรู้

เราได้ใช้การพูด การกระทำ พฤติกรรม และการหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมแล้ว ตอนนี้ เราลองมาดูที่การฝึกสมาธิอันประกอบด้วยความเพียรพยายามที่ถูกต้อง สติที่ถูกต้อง และสมาธิที่ถูกต้อง

ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง คือ การกำจัดความคิดที่เป็นไปในทางทำลาย และพัฒนาสภาพจิตใจที่นำไปสู่การทำสมาธิ

สติ เปรียบสเหมือนกาวใจที่ยึดและไม่ปล่อยให้อะไรบางอย่างหลุดไป ช่วยป้องกันไม่ให้เราลืมสิ่งนั้น

  • ไม่ลืมธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกาย ความรู้สึก จิตใจ และองค์ประกอบของจิตใจของเรา เพื่อที่ว่ามันจะไม่ทำให้เราฟุ้งซ่าน
  • ไม่สูญเสียการยึดถือในแนวทางตามหลักจริยธรรม ข้อศีลต่าง ๆ ของเรา หรือคำสาบานที่เราให้ไว้
  • ไม่ปล่อยหรือลืมเป้าหมายของเรา

ดังนั้น ถ้าเรากำลังฝึกสมาธิ เราย่อมต้องมีสติที่มั่นคง เพื่อจะได้ไม่สูญเสียจุดมุ่งหมายของเราไป เหมือนตอนที่เรากำลังพูดคุยอยู่กับใครบางคน เราก็ต้องให้ความสนใจกับคน ๆ นั้น และสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่

สมาธิ คือ การวางจิตใจยังจุดหมายที่เราจดจ่ออยู่ ดังนั้น เมื่อเราฟังใครสักคนอยู่ นั่นหมายถึงว่า สมาธิของเราจะอยู่ที่สิ่งที่คนนั้นกำลังพูดอยู่ วิธีการมองของเขา และสิ่งที่เขาแสดงออก เป็นต้น การมีสติช่วยรักษาสมาธิ เป็นเหมือนกาวใจที่รักษาเราไว้ที่นั่น ดังนั้น เราจึงไม่ลืม หรือฟุ้งซ่าน

ความเพียรพยายาม

นี่เป็นองค์แรกของมรรค 8 ประการที่เราใช้เพื่อช่วยพัฒนาสมาธิ เราใช้ความเพียรพยายามในการกำจัดความคิดที่รบกวนสมาธิ และสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดสมาธิ และพยายามพัฒนาคุณสมบัติที่ดีต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเราต้องการทำสิ่งใดให้สำเร็จในชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องเพียรพยายาม ทุกสิ่งไม่ได้มาจากการไม่ทำอะไรเลย และก็ไม่มีใครบอกว่ามันง่าย แต่ถ้าเราได้พัฒนาความแข็งแกร่งขึ้นเล็กน้อยจากการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมในแง่ของการกระทำ การพูด และการรับมือกับผู้อื่นแล้ว มันจะทำให้เรามีความเข้มแข็งในการเพียรพยายามพัฒนาปรับปรุงสภาวะจิตใจและอารมณ์ของเราได้

คววามเพียรพยายามที่ไม่ถูกต้อง                                                                                                      

ความเพียรที่ไม่ถูกต้องจะนำพละกำลังของเราไปสู่ความคิดที่เป็นไปในทางทำลาย เป็นอันตราย ซึ่งจะทำให้เราฟุ้งซ่าน และยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสมาธิได้ วิธีการคิดที่เป็นไปในทางทำลายมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ได้แก่

  • คิดอย่างโลภ
  • คิดมุ่งร้าย
  • คิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน

การคิดอย่างโลภ

การคิดอย่างโลภประกอบด้วยการคิดอิจฉาสิ่งที่ผู้อื่นทำได้สำเร็จ หรือความสุข และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นชอบและพอใจ  คุณคิดว่า “ฉันจะเอามันมาได้อย่างไรล่ะ” สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการผูกติดยึดติด เราทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นมีแต่เราไม่มี ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ การมีคู่ครองที่สวย การมีรถใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราคิดถึงมันอยู่ตลอดเวลา และมันเป็นสภาวะที่รบกวนจิตใจมาก มันขัดขวางไม่ให้เกิดสมาธิใช่ไหม

ลัทธิความสมบูรณ์แบบก็รวมอยู่ภายใต้หัวข้อนี้ด้วย เรามักจะเห็นว่า เราสามารถเอาชนะตัวเองได้เสมอ แทบจะเป็นเหมือนความอิจฉาตัวเองเลย!

การคิดมุ่งร้าย

การคิดมุ่งร้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการทำร้ายผู้อื่น อย่างที่ว่า “ถ้าคนนี้พูด หรือทำสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจะแก้แค้น เอาคืน” เราอาจจะคิดว่า เราจะทำอะไร พูดอะไรถ้าคราวหน้าเจอคน ๆ นั้นอีกครั้ง และเรารู้สึกเสียใจที่เราไม่ได้พูดอะไรกลับไปให้เขาคนนั้นได้ยินตอนที่เขาพูดใส่เรา เราไม่สามารถลบมันออกไปจากความคิดของเราได้ เราจะคิดถึงแต่เรื่องนี้ตลอดเวลา

การคิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน                                                                                                               

การคิดอย่างบิดเบือนด้วยความเป็นปรปักษ์แบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนพยายามปรับปรุงตัวเอง หรือช่วยเหลือผู้อื่น เราจะคิดว่า “เขาโง่ สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นไม่มีประโยชน์ มันไร้สาระที่พยายามจะช่วยคนอื่น”

บางคนไม่ชอบกีฬาและคิดว่า คนอื่นที่ทำแบบนั้นและดูฟุตบอลทางโทรทัศน์ หรือไปดูการแข่งเกมกีฬานั้นโง่มาก ๆ เลย แต่การชอบกีฬาไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตราย การคิดว่า มันโง่ หรือเสียเวลาเป็นสภาวะจิตใจที่เป็นปรปักษ์

หรือถ้ามีคนช่วยขอทานด้วยการให้เงินเขา คุณก็จะคิดว่า “โธ่ เอ๊ย คุณโง่จริง ๆ ที่ทำแบบนั้น” ถ้าเรามัวแต่คิดว่า คนอื่นโง่ และสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่มีเหตุผลอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ เราจะไม่มีวันที่จะมีสมาธิได้เลย ซึ่งความคิดเหล่านี้แหละที่เราต้องกำจัดออกไป

ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง                                                                                                          

ความเพียรพยายามที่ถูกต้องเป็นการชี้นำพละกำลังของเราให้ออกห่างจากกระบวนการคิดที่เป็นไปในทางทำลาย และมุ่งสู่การพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์แทน สำหรับในเรื่องนี้ เราจะพูดกันในแง่ของสิ่งที่เรียกว่า “สัมมัปปธาน 4” ในภาษาบาลี ในวรรณคดีภาษาสันสกฤตและทิเบต เรียกว่า ปัจจัยทั้งสี่เพื่อการหลุดพ้น พูดอีกอย่างคือ เพื่อกำจัดข้อบกพร่องของเรา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การละทิ้งทั้ง 4 ได้แก่

  1. อย่างแรกคือ เราเพียรพยายามป้องกันคุณสมบัติด้านลบที่เรายังไม่มีไม่ให้มันเกิดขึ้น  ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีนิสัยที่ติดอะไรง่าย ๆ เราก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใช้บริการดูหนังสตรีมมิ่งออนไลน์ เพราะสุดท้ายคุณก็จะต้องเสียเวลาทั้งวันในการดูซีรีย์ตลอด ซึ่งค่อนข้างอันตรายและทำให้เสียสมาธิ
  2. จากนั้น เราต้องเพียรพยายามกำจัดคุณสมบัติด้านลบที่เรามีอยู่ให้หมดสิ้นไป ดังนั้น ถ้าเราติดอะไรบางอย่าง มันก็ดีที่เราจะพยายามจำกัดมัน ตัวอย่างเช่น เราทุกคนคงรู้จักใครสักคนที่ติด iPod ไปไหนไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ฟังเพลงจากอุปกรณ์นั้น ราวกับว่าพวกเขากลัวความเงียบ กลัวที่จะต้องคิดอะไรอย่างอื่น ดังนั้นจึงต้องมีดนตรีอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่า เสียงเพลงดัง ๆ อาจมีประโยชน์ในการทำให้คุณตื่นตัวเมื่อขับรถทางไกล หรือก้าวตามให้ทันในขณะออกกำลังกาย และเพลงเบา ๆ อาจช่วยให้คุณมีจิตในที่สงบเวลาทำงาน แต่ที่แน่ ๆ ดนตรีไม่ได้ช่วยให้คุณจดจ่อฟังคู่สนทนาของคุณ มันเป็นสิ่งที่ล่อใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  3. หลังจากนั้น เราจำเป็นต้องปลูกฝังคุณสมบัติด้านบวกใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
  4. จากนั้น เราต้องเพียรพยายามในการรักษาและเพิ่มพูนคุณภาพด้านบวกที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ที่จะมองดูสิ่งเหล่านี้ และลองหาวิธีการที่จะประยุกต์ใช้มัน ตัวอย่างหนึ่งจากตัวผมเองคือ ผมมีนิสัยที่แย่มากอย่างหนึ่งถ้ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของผม ผมมีคนประมาณ 110 คนที่ทำงานเว็บไซต์นี้ ส่งอีเมลถึงผมเกี่ยวกับการแปลและไฟล์ที่แก้ไขเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ผมได้รับไฟล์เหล่านี้มากมายทุกวัน นิสัยแย่ ๆ ของผมก็คือ ผมจะดาวน์โหลดทุกอย่างไว้ในโฟลเดอร์เดียวแทนที่จะเก็บมันไว้แยกเป็นโฟลเดอร์ ๆ ไปให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ทั้งผู้ช่วยของผมและตัวผมเองสามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น มันเป็นนิสัยที่ไม่ดีเลยจริง ๆ เพราะความไม่มีประสิทธิภาพของผม ทำให้เราไม่มีสมาธิในการทำงานจัดการกับไฟล์เหล่านี้ เนื่องจากเสียเวลาไปกับการค้นหาและจัดเรียงไฟล์เหล่านั้นนั่นเอง แล้วคุณสมบัติด้านบวกตรงนี้จะเป็นอะไร ก็การจัดระบบไง ทันทีที่มีไฟล์เข้ามาจะได้เอามันไปไว้ในโฟลเดอร์ที่ถูกต้องได้ทันที นี่เป็นการสร้างนิสัยในการจัดเก็บของไว้ในที่ที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นระเบียบตั้งแต่ต้น แทนที่จะขี้เกียจ และปล่อยให้ทุกอย่างรกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบไปทั่ว

ในตัวอย่างนี้ เราได้เห็นคุณสมบัติด้านลบคือ นิสัยที่ไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้า และคุณสมบัติด้านบวกด้วย ดังนั้น เราจึงควรเพียรพยายามที่จะหลีกเลี่ยงคุณสมบัติด้านลบ และสร้างระบบไฟล์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ซึ่งสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นการปฏิบัติในระดับที่ง่ายมากเลย

เอาชนะอุปสรรคทั้งห้าต่อการมีสมาธิ                                                                                         

ความเพียรพยายามที่ถูกต้องยังรวมถึงการเอาชนะอุปสรรคทั้งห้าประการต่อการมีสมาธิ ได้แก่

ความตั้งใจที่จะทำตามความต้องการของประสาทสัมผัสทั้งห้าที่น่าปรารถนา                                                          

วัตถุทางประสาทสัมผัสที่พึงปรารถนาทั้งห้าได้แก่ รูป เสียง กลิ่น  รส และการสัมผัสทางกาย อุปสรรคนี้ที่เราพยายามเอาชนะอยู่ มันอยู่ตรงที่เรากำลังพยายามตั้งสมาธิจดจ่ออยู่กับบางสิ่งบางอย่าง ตัวอย่างเช่น เราทำงานอยู่ แต่สมาธิของเราถูกรบกวนด้วยความคิดอย่างเช่น "ฉันต้องการดูหนัง" หรือ "ฉันอยากไปที่ตู้เย็น” ดังนั้น ณ ตรงนี้ เรากำลังมองที่ความสุข หรือความปรารถนาทางประสาทสัมผัส เช่น ต้องการกิน ต้องการฟังเพลง และอื่น ๆ เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการไม่ทำตามสิ่งต่าง ๆ เมื่อความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อให้เรามุ่งเน้น

ความคิดมุ่งร้าย                                                                                                      

เป็นการคิดเกี่ยวกับการทำร้ายใครบางคน ถ้าเราคิดโดยมีเจตนาร้ายอยู่เสมอ เช่นคิดว่า “คน ๆ นี้ทำร้ายฉัน ฉันไม่ชอบเขา ฉันจะแก้แค้นเขายังไงดี” นี่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่มากต่อการมีสมาธิ เราจำเป็นต้องเพียรพยายามในการหลีกเลี่ยงการคิดที่ชั่วร้าย อันตราย ไม่เฉพาะกับผู้อื่นอย่างเดียว แต่กับตัวเราเองด้วย

จิตใจที่คลุมเครือ และความง่วงนอน                                                                                         

ที่นี่จิตใจของเราอยู่ในสายหมอก เราไม่สัมผัสกับความเป็นจริง และไม่สามารถคิดได้อย่างชัดเจน ส่วนความง่วงนอน ก็คือตอนที่เราง่วงนอน เราต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งนี้ ไม่ว่าคุณจะดื่มกาแฟ หรือออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ เราต้องพยายามที่จะไม่ยอมแพ้มัน แต่ถ้ามันยากเกินไปที่จะมีสมาธิ ดังนั้น เราจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตขึ้นมา ถ้าคุณทำงานที่บ้าน “ฉันจะงีบ หรือพักสักยี่สิบนาที” ถ้าคุณอยู่ที่ทำงาน “ฉันจะพักดื่มกาแฟสิบนาที” กำหนดเวลาขึ้นมา แล้วก็กลับไปทำงานของคุณต่อ 

การเปลี่ยนใจง่าย และความเสียใจ                                                                                              

การเปลี่ยนใจง่าย อย่างใจของเราไปอยู่ที่เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือยูทูป (YouTube) หรืออะไรอย่างอื่น ความรู้สึกเสียใจคือ ตอนเวลาที่ใจของเราไปหาความรู้สึกผิด “ฉันรู้สึกแย่มากที่ฉันทำสิ่งนี้ หรือสิ่งนั้นลงไป” สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ฟุ้งซ่านอย่างมาก และขัดขวางเราจากการมีสมาธิ

ความลังเลใจ ไม่แน่ใจ และสงสัย                                                                                                        

สิ่งสุดท้ายที่เราต้องเพียรพยายามเอาชนะก็คือ ความลังเลใจ ไม่แน่ใจ และสงสัย "ฉันควรทำอย่างไรดี" “ฉันควรทานอะไรเป็นอาหารกลางวัน บางทีฉันควรต้องทานสิ่งนี้นะ หรือฉันควรจะทานอันนั้นไหม” การที่ไม่สามารถตัดสินใจได้นั้น เป็นการเสียเวลาอย่างมาก เราไม่สามารถตั้งใจ และทำสิ่งต่าง ๆ ได้ถ้าเราเต็มไปด้วยข้อสงสัยและความไม่แน่ใจ ดังนั้น เราจำเป็นต้องพยายามแก้ไขปัญหานี้

สรุปสั้น ๆ ความเพียรพยายามที่ถูกต้องก็คือ

  • หลีกเลี่ยงวิธีการคิดที่เป็นไปในทางรบกวน และการคิดที่เป็นไปในทางทำลาย
  • กำจัดนิสัยที่ไม่ดีและข้อบกพร่องที่เราอาจมีอยู่ให้หมดไป
  • พัฒนาคุณสมบัติที่ดีที่เรามีอยู่แล้ว และที่ยังบกพร่องอยู่
  • กำจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้มีสมาธิ

สติ

ด้านต่อไปของมรรค 8 ประการที่เกี่ยวข้องกับสมาธิคือ การมีสติที่ถูกต้อง

  • สติ โดยพื้นฐานแล้วเป็นกาวใจ เมื่อคุณจดจ่อ ตั้งสมาธิ จิตใจของคุณตั้งมั่นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ซึ่งสติที่ตั้งมั่นนี้จะป้องกันไม่ให้คุณปล่อยจุดมุ่งหมายนั้นไป
  • สิ่งนี้มาพร้อมกับความตื่นตัว ที่คอยตรวจจับความตั้งใจของคุณกำลังล่องลอย ร่อนเร่ไม่มีจุดหมาย หรือคุณง่วงนอน ไม่สดใส
  • จากนั้น เราก็ใช้ความใส่ใจของเรา ซึ่งก็คือวิธีที่เราพิจารณาหรือคำนึงถึงอยู่กับเป้าหมายของเรา

ณ ตรงนี้ เรามุ่งความสนใจไปที่วิธีการพิจารณาร่างกาย ความรู้สึก จิตใจ และองค์ประกอบของจิตใจต่าง ๆ เราต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการยึดถือ และการไม่ปล่อยวิธีการพิจารณาร่างกายและความรู้สึกของเราที่ไม่ถูกต้องให้หลุดไป เพราะถ้าเราไม่ปล่อยมันไป เราก็จะถูกฟุ้งซ่าน และไม่สามารถมีสมาธิได้ ดังนั้น เรามาดูรูปแบบของสติที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องสลับกันไป

เกี่ยวกับร่างกายของเรา                                                                                                                               

เมื่อเราพูดถึงร่างกาย โดยทั่วไปแล้ว สิ่งนี้หมายถึง ร่างกายที่แท้จริงของเรา และความรู้สึก หรือด้านต่าง ๆ ของร่างกายของเรา การพิจารณาร่างกายที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นที่ว่า โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของเรานั้นให้ความสำราญแก่เรา หรือสะอาด และสวยงาม เราใช้เวลาอย่างมากวุ่นวายหรือวิตกกังวลว่า เราดูเป็นอย่างไร ทั้งทรงผม การแต่งหน้า การแต่งตัวของเรา เป็นต้น แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องดีที่จะรักษาร่างกายให้สะอาด เรียบร้อยและดูดี แต่เมื่อเราไปถึงขั้นที่สุดโต่งของความคิดที่ว่า รูปลักษณ์ของร่างกายเป็นแหล่งของความสุข สำราญ และมันจะต้องสมบูรณ์แบบเสมอ เพื่อจะดึงดูดความสนใจของผู้อื่นได้ ซึ่งทำให้เราไม่มีเวลาไปคิดสนใจอย่างอื่นที่มีคุณค่ามากกว่า

เราลองมาดูร่างกายตามความเป็นจริงกัน ถ้าคุณนั่งนานเกินไป คุณจะรู้สึกไม่สบายตัว และจะต้องเคลื่อนไหว ถ้าคุณนอนอยู่ในท่าเดียว คุณก็จะไม่สบายตัว และและท่านอนต่อไปก็เหมือนกัน เราเจ็บป่วย และร่างกายก็ชราลง นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดูแลร่างกาย และให้แน่ใจว่าเรามีสุขภาพที่ดีโดยการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดี แต่ถ้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเกินไปอย่างที่ว่า ร่างกายเป็นสิ่งที่ให้ความสำราญ ให้ความสุขที่ยั่งยืนถาวร การคิดแบบนี้ถือว่าเป็นปัญหา

เราต้องกำจัดสติที่ไม่ถูกต้องนี้เสีย เราต้องปล่อยไปความคิดที่ว่า ผมของเราเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือเราต้องทำสีให้ดูดีเข้ากันได้ทั้งหมด เพราะสิ่งนี้นำความสุขมาให้กับเรา เราต้องหยุดยึดติดกับสิ่งนี้ และปลูกฝังการมีสติที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ ผมและเสื้อผ้าของฉันไม่ได้เป็นแหล่งของความสุขที่แท้จริง การคิดเกี่ยวกับมันมากเกินไปจะเป็นการเสียเวลา และขัดขวางเราไม่ให้มีสมาธิในการคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มีคุณค่ามากกว่า

เกี่ยวกับความรู้สึกของเรา                                                                                                                  

ณ ที่นี่ เรากำลังพูดถึงความรู้สึกทุกข์หรือสุขที่สุดท้ายแล้วก็เชื่อมโยงกับต้นเหตุของความทุกข์อยู่ดี เมื่อเรามีความทุกข์ เราจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ความกระหาย” เรากระหายให้ต้นเหตุของความทุกข์มันจบไป ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรามีความสุขเล็กน้อย เราก็กระหายให้มีความสุขมากขึ้นอีก นี่ก็คือต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ

เมื่อเราเห็นว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในโลก มันจะทำให้เกิดปัญหากับสมาธิ เกิดยังไง “ฉันอึดอัดนิดหน่อย” หรือ “ฉันอารมณ์ไม่ดี” หรือ “ฉันไม่มีความสุข” แล้วไง แล้วคุณก็ทำอะไรที่คุณทำอยู่ต่อไป ถ้าคุณคิดจริง ๆ ว่าอารมณ์เสียของคุณเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในโลกและยึดติดอยู่กับมันแบบนั้น มันก็จะกลายเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงในการตั้งใจทำอะไรก็ตามที่คุณกำลังทำอยู่นั่นแหละ

เมื่อเรามีความสุข เราไม่ควรว้าวุ่น อยากจะให้มีความสุขมากขึ้นและมีอยู่ตลอดไป สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงการทำสมาธิเช่นกัน เมื่อคุณเริ่มรู้สึกดีจริง ๆ นั่นอาจทำให้คุณว้าวุ่นด้วยสิ่งที่ดีเยี่ยมที่สมาธิให้แก่คุณ หรือถ้าคุณอยู่กับคนที่คุณชอบ หรือกินอะไรที่อร่อย การมีสติที่ไม่ถูกต้องคือ ยึดติดว่า “สิ่งนี้ยอดเยี่ยมมาก” และทำให้ว้าวุ่นด้วยสิ่งนั้น ก็มีความสุขกับมันอย่างที่มันเป็น แต่อย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่

เกี่ยวกับจิตใจของเรา                                                                                                                       

มันยากที่จะมีสมาธิถ้าเราคิดว่าจิตใจของเราโดยธรรมชาติแล้วเต็มไปด้วยความโกรธ ความโง่เขลา หรือความไม่รู้ คิดว่า อะไรบางอย่างที่ผิดหรือบกพร่องในจิตใจของเราเป็นสิ่งปกติโดยธรรมชาติ เรามักจะคิดถึงตัวเองในแง่ของการไม่ดีพอ เช่น “ฉันไม่ใช่แบบนี้ ฉันไม่ใช่แบบนั้น ฉันไม่ใช่อะไรเลย” หรือ “ฉันไม่เข้าใจ” ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลองพยายามเลย หากเรายึดติดอยู่กับความคิดเหล่านี้แล้ว มันก็สิ้นหวัง ในขณะที่ ถ้าเรามีสติที่ถูกต้อง เราก็จะคิดได้ว่า “เอาล่ะ ฉันอาจไม่เข้าใจ ฉันอาจสับสนเพียงชั่วคราว แต่นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของจิตใจของฉันนะ” มันทำให้เรามีความมั่นใจในการใช้สมาธิเพื่อให้ผ่านพ้นมันไปได้

เกี่ยวกับองค์ประกอบของจิตใจของเรา                                                                                               

อย่างที่สี่คือ ในแง่ขององค์ประกอบของจิตใจ เช่น สติปัญญา ความเมตตา ความอดทน และอื่น ๆ  การมีสติที่ไม่ถูกต้องก็จะคิดว่า มันถูกกำหนดตายตัวไว้แล้ว และ “ฉันก็แค่เป็นอย่างที่ฉันเป็น และทุกคนต้องยอมรับมัน ไม่มีอะไรที่ฉันจะสามารถทำได้เพื่อไปเปลี่ยนมัน หรือปลูกฝัง สร้างมันขึ้นได้” การมีสติที่ถูกต้องคือ การรู้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้มันไม่ได้เพียงแค่ถูกตรึงไว้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เราสามารถพัฒนาและปลูกฝังมันขึ้นมาได้ ในบริบทนี้ก็คือ เพื่อให้มีสมาธิต่อไป

การควบคุมตนเอง                                                                                                                           

มันแปลก เมื่อเราวิเคราะห์ตัวเองเพื่อจะดูวิธีการที่เราจัดการในตอนที่เราอารมณ์ไม่ดีมาก ๆ หรือตอนที่เรารู้สึกผิด เราพบว่า เราก็แค่ยึดติดอยู่กับอารมณ์นั้น แล้วก็ติดอยู่อย่างนั้น หรือกับความรู้สึกผิด เราก็ติดอยู่กับความผิดพลาดที่เราทำไว้  เราเป็นมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนก็ทำผิดพลาดได้  การมีสติที่ไม่ถูกต้องคือ เมื่อเรายึดมันไว้ ไม่ปล่อยมันไป และตีอกชกหัวตัวเองสำหรับความเลวที่เราคิดว่าเราเป็น การมีสติที่ถูกต้องคือ การรู้จักว่า อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันเกิดขึ้นมาจากสาเหตุ และสภาวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีอะไรอยู่แบบนั้นตลอดไป

คำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งที่เราพบในคำสอนทางพระพุทธศาสนาคือ “การควบคุมตัวเอง” เหมือนตอนที่ตื่นนอนตอนเช้า เมื่อคุณนอนอยู่บนเตียง ก็ไม่อยากลุกออกไปข้างนอก เพราะกำลังรู้สึกสบาย และยังรู้สึกง่วงนอนอยู่ คุณก็ควบคุมตนเองได้โดยการตื่น ลุกขึ้นจากเตียงได้ไม่ใช่หรือ เราสามารถทำแบบนั้นได้ มิฉะนั้น ครึ่งหนึ่งของเราคงจะไม่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าหรอก! มันก็เหมือนกับเวลาที่เราอารมณ์ไม่ดี หรือเพียงแค่รู้สึกแย่นิดหน่อย เราก็สามารถควบคุมตนเองได้ แบบนี้ “เอาน่า…ทำซะ!” อย่ายอมแพ้มัน และทำในสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ

ด้านอื่น ๆ ของการมีสติ                                                                                                             

โดยทั่วไปแล้ว การมีสติจริง ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก มันป้องกันเราจากการลืมสิ่งต่าง ๆ หากมีสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ การมีสติที่ถูกต้องจะช่วยให้เรามีสมาธิทำสิ่งนั้น การมีสติเกี่ยวข้องกับการจำ ดังนั้น คุณอาจจำได้ว่ารายการโทรทัศน์ที่คุณชื่นชอบจะออกอากาศคืนนี้ แต่เป็นการยึดติดกับสิ่งที่ไม่สำคัญมากมายอะไรนัก เลยทำให้คุณลืมสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าไป

ถ้าเรากำลังทำตามการฝึกฝนทำอะไรสักอย่าง นั่นคือ การมีสติที่ถูกต้องที่เรายึดติดกับมันได้ ถ้าเราออกกำลังกาย เราก็ต้องออกกำลังกายทุกวัน ถ้าเรากำลังลดน้ำหนักอยู่ เราก็ต้องรักษาสติไว้ว่า เราจะไม่หยิบเค้กชิ้นนั้นมาถ้ามีคนยื่นให้

การมีสติคือ การยึดมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และไม่ว้าวุ่นไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญรอบข้างทั้งหมด

รักษาการมีสติเมื่ออยู่กับครอบครัว                                                                                                    

หลายคนพบว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะมีสติตามหลักจริยธรรมเมื่ออยู่กับครอบครัว ยากกว่าเมื่ออยู่กับเพื่อน หรือคนแปลกหน้าเสียอีก ถ้ากรณีนั้นเกิดขึ้นกับเรา คำแนะนำทั่วไปคือ การกำหนดความตั้งใจแน่วแน่มาก ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าคุณกำลังจะไปพบกับญาติ คุณต้องมีความตั้งใจว่า “ฉันจะพยายามควบคุมอารมณ์ จะพยายามจำว่าพวกเขาดีกับฉันมาก พวกเขาคือ คนใกล้ชิดของฉัน และการปฏิบัติของฉันต่อพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพวกเขา” นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเริ่มต้น

เราต้องเตือนตัวเองด้วยว่า พวกเขาก็คือ มนุษย์เหมือนกัน เราไม่ควรไปกำหนดหรือระบุพวกเขาตามบทบาทว่า เป็นแม่ พ่อ น้องสาว พี่สาว  พี่ชาย น้องชาย หรือความสัมพันธ์อะไรก็ตามที่คุณมีกับพวกเขา ถ้าเราไปยึดติดกับบทบาทของพวกเขา เราก็มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่พวกเขาทำตามที่เราคาดไว้ตามบทบาทของแม่หรือพ่อว่าต้องเป็นยังไง รวมทั้งสิ่งที่ผ่านมาในอดีต และความคาดหวัง และความผิดหวังที่เรามีกับคนเหล่านี้ จะเป็นการดีกว่าถ้าเราเชื่อมความสัมพันธ์กับพวกเขาในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง  ถ้าพวกเขาไม่มีสติเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังปฏิบัติต่อเราเหมือนเราเป็นเด็ก เราก็ไม่ควรตกลงไปในกับดับรูปแบบการกระทำแบบนั้น จำไว้ว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และเราก็ไม่ต้องไปเล่นตามเกมนั้น เพราะท้ายสุดแล้วมันต้องใช้คนสองคนในการเต้นแทงโก้นะ

เมื่อไม่นานมานี้ พี่สาวของผมมาเยี่ยมผมเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เธอจะเข้านอนค่อนข้างเร็วแต่หัวค่ำ แล้วก็จะทำตัวราวกับว่าเธอเป็นแม่ของผม บอกผมว่า “ไปนอนเดี๋ยวนี้” แต่ถ้าผมตอบโต้เหมือนเด็ก และพูดว่า “ไม่ไป…มันเร็วเกินไป ผมยังไม่อยากเข้านอน ผมยังอยากอยู่ต่อ ทำไมมาบอกให้ผมไปนอน” มันก็เป็นแค่การเล่นเกมเดียวกัน และเราทั้งคู่ก็จะอารมณ์เสีย ดังนั้น ผมก็ต้องเตือนตัวเองว่า พี่สาวผมกำลังให้คำแนะนำแก่ผม เพราะเธอห่วงใยผม ไม่ใช่เพราะเธอต้องการทำให้ผมโกรธ เธอคิดว่ามันจะดีกว่าถ้าผมจะเข้านอนแต่หัวค่ำ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามมีมุมมองที่สมเหตุสมผลที่เป็นจริงมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การสร้างภาพขึ้นในใจ

ดังนั้นก่อนที่เราจะไปพบปะกับสมาชิกครอบครัว เราสามารถตั้งสติด้วยแรงจูงใจของเรา ซึ่งหมายถึง

  • เป้าหมายของเรา: เป้าหมายคือ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวของเรา ซึ่งเป็นผู้ที่ฉันห่วงใยใส่ใจ และผู้ที่ห่วงใยใส่ใจฉัน
  • อารมณ์ประกอบ: การห่วงใยครอบครัวของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์

อีกวิธีหนึ่งในการมองดูมันก็คือ แทนที่จะคิดว่ามันคือความทรมานที่น่ากลัว ก็ลองมองว่ามันเป็นความท้าทาย และโอกาสที่จะพัฒนาเติบโตขึ้น เช่นถามตัวองว่า “ฉันจะสามารถผ่านพ้นการทานอาหารค่ำกับครอบครัวได้โดยไม่อารมณ์เสียได้หรือไม่”

และเมื่อครอบครัวของคุณเริ่มที่จะจู้จี้จุกจิกกับคุณ อย่างที่พ่อแม่มักจะทำกัน เช่น ถามว่า "ทำไมไม่แต่งงาน ทำไมไม่หางานทำที่ดีกว่านี้ ทำไมถึงไม่มีลูก” (สิ่งแรกที่พี่สาวของผมพูดเมื่อเธอเห็นหน้าผมคือ “คุณต้องตัดผม!”) ดังนั้น เราก็รับรู้เสียว่า พวกเขาถามถึงเรื่องนั้น เพราะพวกเขาเป็นห่วง และเราก็ควรที่จะตอบแค่ว่า “ขอบคุณที่เป็นห่วงครับ/ค่ะ!”

นอกจากนี้ เรายังลองคิดถึงเบื้องหลังที่มาที่ไปที่พวกเขาถามแบบนั้น ซึ่งพวกเพื่อน ๆ ของพวกเขามักจะถามกันว่า “ลูกชายของคุณกำลังทำอะไรอยู่ ลูกสาวของคุณทำอะไรอยู่” และพวกเขาจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน ๆ ของพวกเขา พวกเขาไม่ได้ถามว่า ทำไมคุณถึงยังไม่แต่งงานด้วยความประสงค์ร้าย แต่เพราะพวกเขากังวลเรื่องความสุขของคุณ ขั้นตอนแรกคือ การรับรู้สิ่งนี้ และเข้าใจความกังวลของพวกเขา และถ้าคุณต้องการ คุณก็สามารถอธิบายอย่างใจเย็นว่า ทำไมคุณถึงไม่แต่งงาน!

ด้วยการใช้สติที่ไม่เหมาะสม เรามักจะยึดมั่นในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผล อาจเป็นเรื่องในอดีตที่นานมากแล้วอย่างเช่น “ทำไมคุณทำแบบนี้เมื่อสิบปีก่อน” หรือ “คุณพูดแบบนั้นเมื่อสามสิบปีที่แล้ว” เรายึดติดกับมัน และไม่ให้โอกาสกับใครเลย ซึ่งเป็นการขัดขวางเราในการใช้สมาธิที่จะคิดว่า พวกเขาเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ เรายึดถือความคิดอคติที่มีอยู่ก่อนแล้วว่า “มันจะต้องเป็นเรื่องที่แย่น่ากลัว เพราะพ่อแม่ของฉันกำลังจะมาหาฉัน” ซึ่งเราได้ตัดสินใจไปแล้วว่ามันเป็นเรื่องที่แย่น่ากลัว นั่นทำให้เราเครียดมากก่อนอาหารเย็น! ดังนั้น เราควรเปลี่ยนมันด้วยการมีสติที่ถูกต้อง โดยคิดว่ามันเป็นโอกาสที่จะเห็นว่า พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง และโอกาสที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ในอนาคตที่จะเผยออกมาให้เห็นเอง โดยไม่คิดไปเองเสียก่อน

คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อรักษาการมีสติ                                                                            

เราจะรักษาให้มีสติไว้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างไร เราจำเป็นต้องปลูกฝัง

  • ความตั้งใจ - ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพยายามไม่ลืม
  • ความคุ้นเคย – การทำตามกระบวนการซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้เราจำมันได้โดยอัตโนมัติ
  • การตื่นตัว – ระบบการเตือนที่ทำการตรวจจับเมื่อพบว่า เราไม่มีสติ

ทั้งหมดนี้มาจากทัศนคติที่ห่วงใย เอาใจใส่ เป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมของคุณที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น ถ้าคุณไม่เป็นห่วงเป็นใยในการกระทำของคุณจริง ๆ มันก็คงจะไม่ช่วยให้คุณรักษาสติไว้ได้ เพราะมันไม่มีวินัย แล้วทำไมเราต้องห่วงใยด้วย ก็เพราะเราเป็นมนุษย์ แม่และพ่อของเราก็เป็นมนุษย์ และเราทุกคนต้องการมีความสุข ไม่มีใครอยากจะเป็นทุกข์ การกระทำและการพูดของเราต่อผู้อื่นมีผลต่อความรู้สึกของพวกเขา ดังนั้น เราจึงควรห่วงใยต่อการกระทำของเรา

เราจำเป็นต้องตรวจสอบตัวเองและแรงจูงใจของเรา หากเราต้องการเป็นคนดีเพียงเพื่อให้คนอื่นชอบเรา ค่อนข้างเป็นความคิดแบบเด็ก ๆ มันค่อนข้างงี่เง่า เหตุผลที่ดีที่สุดสำหรับการมีสติและการรักษาสติไว้ก็เพราะเราห่วงใยผู้อื่นตามทัศนะคติแห่งความเป็นห่วงเป็นใยนั่นเอง

สมาธิ

ด้านที่สามของมรรค 8 ประการที่เราใช้เพื่อการมีสมาธิเรียกว่า สมาธิที่ถูกต้อง (ใช่ มันก็คือ สมาธิ) สมาธิคือ การวางจิตใจยังจุดหมายที่เราจดจ่ออยู่ เมื่อเรายึดมั่นในสิ่งที่เราต้องการให้เกิดสมาธิแล้ว สติก็จะรักษามันไว้ เราจะไม่ได้สูญเสียมันไป แต่สิ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับสมาธิคือการยึดถือเป้าหมายไว้ก่อน

เราใช้ความความใส่ใจ เพื่อให้เกิดมีสมาธิในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่เกิดเพิ่มมากขึ้นในทุกวันนี้เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตคือ เราแบ่งความใส่ใจออกไป ดังนั้นเราจึงไม่มีสมาธิกับเรื่องใด ๆ ได้อย่างสมบูรณ์เลย เมื่อคุณดูข่าวในทีวี มีบุคคลที่อยู่ตรงกลางของหน้าจอถ่ายทอดข่าวของวันนั้น และก็จะมีสคริปต์เลื่อนของข่าวอื่นอยู่ด้านล่างจอ รวมทั้งตรงมุมจออาจมีสิ่งอื่น ๆ อีกด้วยนะ เราไม่สามารถตั้งใจ จดจ่อ หรือมีสมาธิกับสิ่งใด ๆ ได้อย่างเต็มที่เลย แม้ว่าเราคิดว่า เราสามารถทำอะไรหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำได้ เว้นแต่ว่าคุณเป็นพระพุทธเจ้า ที่สามารถมีสมาธิ 100% กับงานหลายอย่างคุณกำลังทำอยู่ได้ในเวลาเดียวกัน

บางครั้ง เมื่อเราอยู่กับคน ๆ หนึ่ง และเขากำลังคุยอยู่กับเรา แต่ใจของเรากลับไปอยู่ที่มือถือของเรา นี่เป็นการวางจิตใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเขากำลังคุยอยู่กับเรา แต่เราไม่ได้ตั้งใจฟังเขาเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าเราจะมีการวางจิตใจไว้กับอะไรบางอย่าง แต่มันยากมากที่จะรักษามันไว้ให้อยู่ ณ ตรงนั้น  เราคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และคุ้นเคยกับการมองสิ่งหนึ่ง แล้วก็มองอีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่ายได้ง่ายมาก การมีสมาธิแบบนั้นแป๊บเดียวตรงนี้ แป๊บเดียวตรงนั้น สิ่งนี้มันเป็นอุปสรรค มันเป็นการมีสมาธิที่ไม่ถูกต้อง การมีสมาธิอย่างเหมาะสมหมายถึง การมีสมาธิให้ได้นานเท่าที่จำเป็นโดยไม่รู้สึกเบื่อ และไม่หันไปทำอย่างอื่นต่อ เพราะเราไม่สนใจมันอีกต่อไปแล้ว

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ เราต้องการได้รับความบันเทิง สิ่งนี้จะนำกลับไปสู่การมีสติที่ไม่ถูกต้อง คิดว่าความสุขชั่วคราวจะทำให้เราพอใจ แต่แท้ที่จริงแล้วมันจะทำให้เรากระหาย อยากได้มากขึ้น  นักสังคมศาสตร์พบว่า ยิ่งมีสิ่งที่เราสามารถทำและดูได้มากเท่าไหร่ และอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่สามารถให้สิ่งนี้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จริง ๆ แล้วก็ ยิ่งทำให้เราเบื่อ ตึงตัว และเครียดมากขึ้นเท่านั้น เมื่อคุณกำลังมองดูที่อะไรบางอย่าง คุณกำลังคิดว่า อาจมีอะไรบางอย่างที่ให้ความบันเทิงมากกว่า และคุณก็กลัวว่าจะพลาดไม่ได้ดูสิ่งเหล่านี้ ในลักษณะเช่นนี้ คุณจะทำมันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด และไม่มีสมาธิในอะไรเลย แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นแต่ความคิดที่ดีที่จะพยายามทำชีวิตของคุณให้ง่ายขึ้น จะได้ไม่มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อสมาธิของคุณพัฒนาขึ้น คุณก็จะสามารถเพิ่มขอบเขตของสิ่งที่คุณสามารถดูแลจัดการและรับมือได้มากขึ้น

หากคุณมีสมาธิดี คุณก็สามารถมุ่งมั่นตั้งใจกับเรื่องนี้ จากนั้นก็เป็นเรื่องนั้นได้ แต่ทีละอย่างโดยไม่ฟุ้งซ่าน ก็เหมือนหมอที่ต้องจัดการกับผู้ป่วยทีละราย และมีสมาธิกับพวกเขาอย่างเต็มที่โดยไม่คิดถึงผู้ป่วยรายก่อนหน้า หรือรายต่อไป แม้ว่าหมอจะตรวจผู้ป่วยได้หลายคนในวันหนึ่ง ๆ  แต่หมอก็มักจะตั้งใจตรวจคนไข้ได้ทีละคน นี่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการมีสมาธิ

แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยากนะ อย่างตัวผม ผมต้องดูแลจัดการงานที่หลากหลายจำนวนมากทั้งเว็บไซต์ และภาษาต่าง ๆ เป็นต้น มันยากมากที่จะมีสมาธิใส่ใจอยู่กับอะไรเพียงอย่างเดียว มีหลายอย่างเข้ามาในเวลาเดียวกัน ทุกคนที่ทำงานในธุรกิจที่ซับซ้อนก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่สมาธิสามารถพัฒนาได้ในแต่ละขั้นตอน

บทสรุป

การกำจัดอุปสรรคต่อการมีสมาธินั้นเป็นเรื่องค่อนข้างกว้าง วิธีง่าย ๆ ที่อาจทำได้คือ เราปิดโทรศัพท์มือถือของเราตอนที่เราทำงาน หรือเลือกเวลาเฉพาะหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันในการเช็คอีเมล เพื่อที่เราจะได้มีสมาธิอย่างเต็มที่กับสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ ก็เหมือนหมอ หรือศาสตราจารย์ที่มีช่วงเวลาการทำงาน ไม่ใช่ว่าคุณจะไปหาพวกเขาเวลาไหนก็ได้ จะมีช่วงเวลาที่แน่นอนให้พบพวกเขาได้ เราสามารถทำแบบนี้ได้กับตัวเราด้วย เพราะมันจะช่วยให้เราพัฒนาสมาธิของเราได้

มันน่าสนใจที่เราจะมองดูการพัฒนาทางสังคมด้วย ก่อนหน้านี้ อุปสรรคสำคัญในการมีสมาธิคือ สภาวะจิตใจของเราเอง เช่น การล่องลอยของจิตใจ การฝันกลางวัน และอื่น ๆ แต่ตอนนี้ มันมีมากกว่านั้นอีก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกเช่น โทรศัพท์มือถือ เฟซบุ๊ก (Facebook) และอีเมล และจริง ๆ แล้ว มันต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะไม่ถูกครอบงำโดยทั้งหมดนี้ และในการที่จะทำสิ่งนี้ให้ได้ เราจำเป็นต้องรู้ถึงคุณลักษณะที่เป็นอันตรายของสื่อเหล่านี้ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์มาแล้วก็คือ ช่วงความใส่ใจนั้นจะสั้นลงเรื่อย ๆ อย่างทวิตเตอร์ (Twitter) มีการจำกัดจำนวนตัวอักษรที่ทวีตได้ และฟีดบนเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็อัปเดตอยู่ตลอดเวลา และมันเร็วมากจนสร้างนิสัยแย่ ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสมาธิ เพราะเราไม่สามารถใส่ใจกับอะไรอย่างอื่นได้เลย ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

Top