ประวัติของชาวมุสลิมในทิเบต

การสำรวจชาวมุสลิมเชื้อสายทิเบต

ก่อนปี ค.ศ. 1959 มีชาวมุสลิมเชื้อสายทิเบตประมาณ 3,000 คน อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางของทิเบต  ชาวมุสลิมเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวมุสลิมที่เดินทางเข้ามาในทิเบตจากแคว้นกัศมีร์ (Kashmir) แคว้นลาดัก (Ladakh) ประเทศเนปาล และประเทศจีน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 14 และ 17  มักสมรสกับหญิงชาวทิเบตและตั้งรกรากที่นี่  พวกเขาพูดภาษาทิเบตและปฏิบัติตามประเพณีส่วนใหญ่ของทิเบต  มีมัสยิดสี่หลังในเมืองลาซา (Lhasa) สองหลังในเมืองชิกาซส์ (Shigatse) และอีกหนึ่งหลังในเมืองเซตัง (Tsetang) ซึ่งสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบทิเบต  นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนศาสนาอิสลามอีกสองแห่งในเมืองลาซาและชิกาซส์สำหรับการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานและภาษาอูรดู  สำหรับชุมชนชาวทิเบตพลัดถิ่นในประเทศอินเดียก็มีชุมชนชาวมุสลิมและชาวพุทธเชื้อสายทิเบตอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติเช่นกัน โดยทั้งสองต่างยอมรับศาสนาของกันและกัน

จุดเริ่มต้นจากแคว้นกัศมีร์และลาดัก

ประวัติศาสตร์การค้าขายระหว่างแคว้นกัศมีร์ ลาดัก และทิเบตนั้นมีมายาวนานมาก และในช่วงระยะเวลานี้มีพ่อค้าจากดินแดนเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทิเบตทางฝั่งตะวันตกและตอนกลาง  หลังจากการเริ่มต้นศาสนาอิสลามในแคว้นกัศมีร์ และลาดักโดยปรมาจารย์ชาวซูฟีในตอนปลายศตวรรษที่  14  ผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากจึงรวมถึงกลุ่มชาวมุสลิมด้วย  อย่างไรก็ตาม คนเข้าเมืองชาวมุสลิมจากแคว้นกัศมีร์และลาดักนั้นได้ไหลเข้ามาอย่างจริงจังในช่วงตอนกลางศตวรรษที่ 17 ซึ่งอยู่ในยุคการปกครองขององค์ดาไลลามะที่ห้า  ประชาชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาในประเทศทิเบตและตั้งถิ่นฐานในเมืองลาซา เนื่องจากภาวะข้าวยากหมากแพงที่แพร่กระจายไปทั่วกัศมีร์

สิทธิพิเศษที่องค์ดาไลลามะที่ห้าทรงประทานให้

สืบเนื่องจากนโยบายการเปิดรับทุกศาสนาทุกฝ่าย องค์ดาไลลามะที่ห้าจึงทรงประทานสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกชุมชนชาวมุสลิม  พวกเขาสามารถเลือกตั้งสมาชิกห้าคนเพื่อเป็นคณะกรรมการควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ ภายในชุมชน สามารถยุติข้อขัดแย้งภายในกลุ่มของตนเองได้โดยปฏิบัติตามกฎชารีอะห์ สามารถเปิดร้านและทำการค้าขายในเมืองอื่น ๆ ในทิเบตได้ และได้รับการยกเว้นจากภาษี  นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์ สาขทว (Sakadawa) ได้และไม่จำเป็นต้องถอดหมวกให้กับพระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเทศกาลสวดมนต์มนลัม (Monlam)  สุดท้ายแล้วองค์ดาไลลามะที่ห้ายังทรงประทานดินแดนในเมืองลาซาให้กับชุมชนชาวมุสลิมสำหรับการสร้างมัสยิดและสุสาน รวมทั้งทรงเชิญผู้นำของชาวมุสลิมเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองสำคัญต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดขึ้นด้วย

คณะผู้แทนการค้าซื้อขายกับแคว้นลาดัก

เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างทิเบต-ลาดักในปี ค.ศ. 1684 รัฐบาลทิเบตอนุญาตให้คณะผู้แทนการค้าจากลาดักสามารถเดินทางมาลาซาได้ทุก ๆ สามปี  นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติต่อไป แม้แต่ตอนที่ทิเบตปิดประเทศไม่ให้ชาวต่างชาติอื่น ๆ เข้ามา  พ่อค้ามุสลิมชาวกัศมีร์และลาดักจำนวนมากที่เดินทางมากับคณะผู้แทนการค้าเหล่านี้ตั้งรกรากในทิเบตและอยู่ร่วมกับชุมชนของตนที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ พ่อค้าชาวมุสลิมจากกัศมีร์ยังตั้งรกรากในเนปาลด้วย ซึ่งพวกเขาทำการค้าขายระหว่างเนปาลกับชาวมุสลิมเชื้อสายกัศมีร์ในทิเบต  เมื่อพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ (Prithvi Narayan Shah) ขับไล่พวกเขาออกจากเนปาล เนื่องจากการพิชิตหุบเขากาฐมาณฑุของพระองค์ ผู้คนจำนวนมากจึงอพยพย้ายไปยังทิเบต  หลังจากสนธิสัญญาระหว่างทิเบต-เนปาลในปี ค.ศ. 1856  พวกเขาจึงเริ่มทำการค้าขายกับเนปาลและอินเดียอีกขึ้นอีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1841 กองทัพดอกรา (Dogra) ของกัศมีร์บุกรุกทิเบต  หลังจากการพ่ายแพ้ ทหารชาวมุสลิมของแคว้นกัศมีร์และลาดักจำนวนมากที่ถูกจับตัดสินใจอยู่ต่อ  นักโทษดอกราชาวฮินดูบางคนเลือกที่จะตั้งรกรากในทิเบตและหันมานับถือศาสนาอิสลามด้วย  พวกเขาเป็นผู้ริเริ่มการปลูกแอปริคอตและแอปเปิ้ลในประเทศนี้

ผู้ตั้งรกรากชาวมุสลิมเชื้อสายหุย

ตั้งแต่ศตวรรษที่  17 พ่อค้าชาวมุสลิมเชื้อสายจีนหุยจากหนิงเซี่ย (Ningxia) ตั้งรกรากในซิลิง (Siling ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า ซีหนิง) ในอัมโด (Amdo) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต  พวกเขาสมรสกับชาวทิเบตและทำการค้าขายระหว่างจีนและทิเบตตอนกลาง  ในเวลาต่อมาบางกลุ่มไปตั้งรกรากในลาซาและตั้งชุมชนมุสลิมแยกออกมาต่างหาก โดยมีมัสยิดและสุสานเป็นของตนเอง

ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก  ชาวมุสลิมเชื้อสายทิเบตถูกข่มเหงเช่นเดียวกับชาวพุทธ  ตอนนี้เมืองส่วนใหญ่ในอัมโดเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมเชื้อสายจีนหุยเป็นส่วนใหญ่ และชาวทิเบตพื้นเมืองถูกกดดันไปอยู่ตามทุ่งหญ้าสเตปป์เขตสูง  นอกจากนั้น พ่อค้าชาวหุยจำนวนมากก็เข้ามาตั้งรกรากในทิเบตตอนกลางเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับประชากรในพื้นที่ พวกเขายังคงการใช้ภาษาจีนและขนบธรรมเนียมจีนไว้เช่นเดิม ซึ่งต่างจากชาวมุสลิมเชื้อสายทิเบตที่อาศัยอยู่ก่อนที่นั่น  

Top