การบูรณาการพระพุทธศาสนาเข้ากับชีวิตของเรา

03:33
คำว่า พระธรรม หมายถึง มาตรการป้องกัน เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา

พระธรรมมีไว้เพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต

สิ่งแรกที่เราต้องทำเพื่อให้ตัวเองมีส่วนร่วมกับการปฏิบัติธรรมคือ การรู้จักปัญหาหรือความยากลำบากประเภทต่าง ๆ ที่เรามีในชีวิต สิ่งต่อไปก็คือ การตระหนักรู้ว่าการปฏิบัติธรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเรากำจัดปัญหาเหล่านี้                                       

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพียงแค่ให้รู้สึกดี หรือมีงานอดิเรกที่ดี หรือทันสมัย หรืออะไรทำนองนั้นเท่านั้น การปฏิบัติธรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เรากำจัดปัญหาของเราได้ นั่นหมายความว่า ในการปฏิบัติธรรมที่เป็นไปได้จริงนั้น เราจำเป็นต้องตระหนักว่า มันจะไม่เป็นกระบวนการที่น่ายินดีพอใจแต่อย่างใด เราต้องมองดูและเผชิญหน้ากับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่น่าพิศมัยในชีวิตของเราจริง ๆ ความยากลำบากที่เรามี ไม่วิ่งหนีมัน แต่ต้องเผชิญหน้ากับมันด้วยทัศนคติที่ตอนนี้เรากำลังพยายามที่จะจัดการกับมันอยู่

ปัญหาของเรามีได้ในหลายรูปแบบ เราทุกคนล้วนแล้วแต่คุ้นเคยกับมันส่วนใหญ่เป็นอย่างดี เราไม่ปลอดภัย เรามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น เรารู้สึกแปลกแยก เรามีปัญหากับอารมณ์และความรู้สึกของเรา เหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่เราทุกคนมี เรามีปัญหาในการจัดการกับครอบครัวและพ่อแม่ผู้ปกครองของเรา พวกเขาเจ็บป่วย และแก่ชรา เรามีปัญหาในการจัดการกับความเจ็บป่วยและวัยสูงอายุของเราเอง และถ้าเราเป็นคนหนุ่มสาว เราก็จะมีปัญหาในการต้องคิดให้ออกว่า เราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเรา จะทำมาหากินด้วยวิธีใด ควรจะเดินไปในทิศทางไหน เป็นต้น เราจำเป็นต้องมองดูที่สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวทั้งหมด

ความสับสน

หนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาคือ การตระหนักรู้ว่าปัญหาเหล่านี้ที่เราทุกคนได้ประสบพบเจอนั้น เกิดขึ้นมาจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าปัญหาเหล่านั้นอยู่ที่นั่นเพราะไม่มีสาเหตุเลย ที่มาของปัญหาเหล่านี้อยู่ภายในตัวของเราเอง นี่เป็นความรู้แจ้งที่สำคัญมาก และไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่ที่จะยอมรับมัน นี่เป็นเพราะว่า พวกเราส่วนใหญ่มักจะตำหนิคนอื่น หรือสถานการณ์ภายนอกว่าเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ของเรา เรารู้สึกว่า “ฉันไม่มีความสุขเพราะสิ่งที่คุณทำ คุณไม่ได้โทรหาฉัน คุณทิ้งฉันไป คุณไม่รักฉัน ทั้งหมดเป็นความผิดของคุณ" หรือเรากล่าวโทษพ่อแม่ของเรา โทษในสิ่งที่พ่อแม่ของเราทำหรือไม่ได้ทำกับเราตอนที่เรายังเป็นเด็ก หรือเราจะกล่าวโทษสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ทางสังคม และอื่น ๆ ตอนนี้ก็แน่นอนว่า ปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดมีบทบาทในประสบการณ์ชีวิตของเรา ศาสนาพุทธไม่ได้ปฏิเสธสิ่งนั้น แต่สาเหตุหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ลึกกว่าของปัญหาของเรา มันก็อยู่ในตัวของเราเอง เป็นทัศนคติของเราเองโดยเฉพาะความสับสนของเรา

หากเราต้องการค้นหาปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความหมายอย่างชัดเจนของทัศนคติทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ผมคงจะบอกว่า มันก็คือสิ่งนี้แหละ เมื่อเราประสบปัญหา เรามองเข้าไปในตัวเองเพื่อพยายามค้นหาที่มา และเมื่อเราระบุที่มาได้แล้ว เราก็จะพยายามเปลี่ยนสถานการณ์นั้นจากภายใน เมื่อเราพูดถึงการมองไปที่ภายใน และค้นหาต้นตอของปัญหา มันไม่ได้อาศัยการตัดสินทางศีลธรรมว่า ฉันเป็นคนไม่ดี ฉันต้องเปลี่ยนแปลง และเป็นคนดี ศาสนาพุทธไม่ได้สร้างการตัดสินทางศีลธรรม เราพยายามค้นหาต้นตอของปัญหาของเราภายในเพียงเพราะเราทุกข์ และต้องการกำจัดปัญหาและความทุกข์ของเรา และที่มาหลักของปัญหาเหล่านั้นก็คือ ทัศนคติของเราเอง โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าตรัสว่า สาเหตุที่ลึกที่สุดของปัญหาและความทุกข์คือ ความสับสนของเรา ดังนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ ค้นพบว่าเราสับสนเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร และเราจะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไรโดยการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง

ความสับสนของเราคืออะไร มันเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ หลายสิ่ง และสิ่งหนึ่งคือ เหตุและผลทางพฤติกรรม เราคิดว่า ถ้าเราทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะไม่มีผลอะไรเลย ตัวอย่างเช่น เราคิดว่า “ฉันสามารถมาสายได้ ไม่สนใจคุณ และอื่น ๆ และมันก็ไม่สำคัญหรอก”  นั่นมันผิด นั่นมันสับสน หรือเราคิดว่าบางสิ่งที่เราทำหรือพฤติกรรมของเราจะส่งผลอะไรบางอย่างที่ไร้สาระและไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น “ฉันดีกับคุณ แล้วคุณจะรักฉันเป็นการตอบแทน ฉันซื้อของขวัญดี ๆ ให้คุณ แล้วทำไมคุณถึงไม่รักฉันตอนนี้ล่ะ” ด้วยความคิดเช่นนี้ เราจินตนาการว่า การกระทำและพฤติกรรมของเราจะส่งผลกระทบที่เป็นไปไม่ได้ หรือเราขยายความ คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบมากกว่าที่อาจเป็นไปได้ นอกจากนี้ เราอาจคิดว่า บางสิ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นนำมาซึ่งผลที่ตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น เราต้องการมีความสุข ดังนั้น เราจึงคิดว่าวิธีที่จะทำให้มีความสุขได้คือ การเมาตลอดเวลา แต่สิ่งนี้ก็เพียงแค่สร้างปัญหามากกว่าความสุขเท่านั้นเอง

อีกอย่างที่เราสับสนคือ เราดำรงอยู่อย่างไร คนอื่นดำรงอยู่อย่างไร และโลกนี้ดำรงอยู่อย่างไร ตัวอย่างเช่น เราทุกข์ทรมานและไม่มีความสุขเมื่อแก่ตัวลงและเจ็บป่วย แต่อะไรอีกที่เราคาดหวังจากการเป็นมนุษย์ มนุษย์เจ็บป่วยและมนุษย์ก็แก่ตัวลง เว้นแต่ว่าเราจะตายตั้งแต่ยังอายุน้อย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรใหญ่โตเลย เมื่อเราเริ่มเห็นผมหงอกในกระจก เราก็จะไม่มีความสุขและตกใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริงเลย และสับสนเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของโลกนี้ และการดำรงอยู่ของเรา

สมมติว่าเรามีปัญหากับการมีอายุมากขึ้น เนื่องจากความสับสนของเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น คือเราไม่ยอมรับความเป็นจริงของมัน เราก็จะดำเนินการในรูปแบบที่เป็นการทำลายภายใต้อิทธิพลของอารมณ์และทัศนคติที่รบกวนนั้น ตัวอย่างเช่น พยายามทำให้ดูเด็กลงและมีเสน่ห์น่าดึงดูด เราทำไปด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพยายามได้รับสิ่งที่เราหวังว่าจะทำให้เราปลอดภัยไร้กังวล เช่น ความสนใจและความรักจากผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุน้อยกว่า ซึ่งเราพบว่ามีเสน่ห์ เบื้องหลังของกลุ่มอาการแบบนี้มักจะสับสนและคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญที่สุดในโลก ตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้น ทุกคนควรสนใจฉัน ไม่ว่าฉันจะหน้าตาเป็นอย่างไร ทุกคนก็ควรเห็นว่าฉันมีเสน่ห์และชอบฉัน มันทำให้เราหงุดหงิดมากถ้ามีคนมองว่าเราไม่มีเสน่ห์ หรือไม่ชอบเรา มันยิ่งทำให้เราหงุดหงิดมากขึ้นอีกถ้าเขาเพิกเฉยต่อเรา ไม่ให้ความสนใจเราเมื่อเราต้องการให้พวกเขาพบว่าเรามีเสน่ห์น่าดึงดูดหากไม่ใช่ทางร่างกาย อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบพระพุทธเจ้าศากยมุนี ฉะนั้นแล้วจะหวังให้ทุกคนชอบเราได้อย่างไร!

ความปรารถนาของเราที่ต้องการให้ทุกคนชอบเป็นความคาดหวังที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มันไม่ใช่ความจริง มันอยู่บนพื้นฐานของความสับสน ความปรารถนาและการยึดติดว่า ทุกคนควรพบว่าเรามีเสน่ห์น่าดึงดูดและให้ความสนใจเรา สิ่งที่รองรับเรื่องนี้เป็นทัศนคติที่ไร้เดียงสาที่รบกวนจิตใจ เราคิดว่าเราสำคัญและน่ารักมากจนใคร ๆ ควรต้องชอบเรา ดังนั้น มันต้องมีบางอย่างผิดปกติกับคน ๆ นี้ถ้าไม่ชอบฉัน หรือแย่กว่านั้นคือ เราเริ่มสงสัยตัวเองว่า “มีบางอย่างผิดปกติกับฉันที่ทำให้คน ๆ นี้ไม่ชอบฉัน” และเราก็รู้สึกแย่หรือรู้สึกผิด นี่เป็นความไร้เดียงสาทั้งหมด

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาตนเอง นี่คือทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร  หากเรากำลังประสบปัญหา รู้สึกไม่ปลอดภัย หรืออะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมองดูตัวเองเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ความสับสนเบื้องหลังอารมณ์ที่รบกวนเหล่านี้ที่ฉันรู้สึกอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม หากเรากำลังมองถึงความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่มันสร้างปัญหา เราก็จำเป็นต้องตระหนักด้วยว่า ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีความสับสนนี้ เห็นได้ชัดว่าอีกฝ่ายมีความสับสนเช่นกัน ประเด็นคือ เราจะไม่พูดแค่ว่า “คุณต้องเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งที่ฉันทำนั้นดีและสมบูรณ์แบบ คุณคือคนที่ต้องเปลี่ยนแปลง” ในทางกลับกัน เราไม่พูดว่าเราเป็นคนเดียวที่ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะสิ่งนั้นอาจแย่ลงไปสู่การเห็นว่าตัวเองเป็นผู้ยอมพลีชีพเพื่อความทุกข์ทรมาน เราพยายามพูดคุยเรื่องต่าง ๆ อย่างเปิดเผยกับอีกฝ่าย และแน่นอนว่าอีกฝ่ายก็จะต้องเต็มใจรับสิ่งนี้เช่นกัน เราต้องยอมรับว่า เราทั้งคู่สับสน มีปัญหาในตัวเราทั้งคู่ในแง่ของการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในความสัมพันธ์ของเรา ดังนั้น ต้องเคลียร์ความสับสนในตัวเราทั้งคู่ นี่เป็นวิถีทางที่เป็นจริงและเป็นธรรมะที่สุดในการดำเนินการ

การเข้าใจพระธรรมก่อนนำไปปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมมีหลายประเภท ไม่ใช่เพียงแค่รับคำแนะนำสั่งสอนในการดำเนินการปฏิบัติเหมือนกับการเรียนรู้วิธีเล่นกลบางอย่าง แต่เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำความเข้าใจในทุก ๆ การปฏิบัติว่ามันจะช่วยเราในการเอาชนะความยากลำบากได้อย่างไร เราจำเป็นต้องเรียนรู้ไม่เพียงแค่ว่าจะประยุกต์ใช้การปฏิบัติเมื่อไหร่และอย่างไรเท่านั้น แต่เรายังต้องรู้ถึงสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้นด้วย ซึ่งหมายความว่า เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยแนวทางปฏิบัติขั้นสูง เราเริ่มต้นจากจุดเริ่มต้น และสร้างรากฐานเพื่อที่ว่าเราจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยการปฏิบัติใด ๆ ของเราจากลำดับขั้นของคำสอนทางพระธรรมว่าเป็นอย่างไร

ตอนนี้ มันเป็นเรื่องจริงว่าเราอ่านคำสอนที่ว่า “ถ้าคุณได้รับยา อย่าถามว่ามันทำงานอย่างไร ก็แค่กินยาซะ!” แม้ว่านี่จะเป็นคำแนะนำที่ดี แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า มันเป็นการเตือนที่มีต่อความสุดโต่งเกินไป เป็นความสุดโต่งในการเรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจคำสอน แต่ไม่เคยนำสิ่งที่เราเรียนรู้ไปปฏิบัติเลย เราต้องการหลีกเลี่ยงความสุดโต่งนั้น นอกจากนี้ ยังมีความสุดโต่งอีกอย่างที่เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเช่นกัน นั่นคือ เมื่อเราได้ยินคำแนะนำสั่งสอนทางพระธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติบางอย่าง จากนั้น ด้วยศรัทธาที่มืดบอด เราก็เพียงแค่ทำตามโดยไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรหรือทำไมเราถึงทำแบบนั้น ปัญหาหลักที่มากับความสุดโต่งนั้นคือ เราไม่เคยเข้าใจวิธีการนำแนวปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ เลย หากเราเข้าใจประเด็นที่อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติใด ๆ นั้นแล้ว ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าเราเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร และจุดมุ่งหมายของมันคืออะไร เราก็ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาบอกเราว่า จะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร เราเข้าใจและรู้ว่าจะนำสิ่งนั้นไปประยุกต์ใช้กับตัวเราอย่างไร

เมื่อเราพูดถึงการกำจัดปัญหาของเรา เราไม่เพียงแต่พูดถึงการกำจัดปัญหาส่วนตัวของเราเท่านั้น แต่เรายังพูดถึงการกำจัดปัญหาที่เรามีในการช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย “ฉันมีปัญหาในการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะความเกียจคร้าน หรือความเห็นแก่ตัว หรือเพราะฉันยุ่งเกินไป” หรือ “ฉันก็แค่ไม่เข้าใจว่าปัญหาของคุณคืออะไร และฉันไม่รู้ว่าจะช่วยคุณอย่างไร” นั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่เรามีใช่หรือไม่ ความยากลำบากในการช่วยเหลือผู้อื่นทั้งหมดนี้ยังเป็นเพราะความสับสนของเราด้วย ตัวอย่างเช่น ความสับสนที่ว่าฉันควรจะเป็นเหมือนพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ และทั้งหมดที่ฉันต้องทำก็มีเพียงแค่สิ่งเดียวและนั่นจะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดของคุณได้ และหากไม่สามารถแก้ปัญหาของคุณได้ทั้งหมด แสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติกับคุณ คุณทำไม่ถูกต้อง คุณจึงมีความผิด หรือฉันทำผิดเพราะฉันควรจะแก้ปัญหาของคุณได้ แต่ก็ทำไม่ได้ ฉันก็เลยไม่ดี และนี่ย้ำอีกครั้งว่า เป็นความสับสนเกี่ยวกับเหตุและผล

ความเชื่อมั่นในพระธรรม

อีกประเด็นหนึ่งคือ การที่เราจะนำพระธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นโดยที่ไม่เป็นโรคประสาท เราต้องมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถกำจัดปัญหาของเราได้จริง เราต้องเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ที่จะกำจัดความสับสนของเราโดยปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน ในการกำจัดบางสิ่งบางอย่าง เราจำเป็นต้องกำจัดที่สาเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องยากมากที่จะได้มาซึ่งความเชื่อมั่นที่มั่นคงและลึกซึ้งว่าเป็นไปได้ที่จะขจัดความสับสนทั้งหมดของเราออกไปเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก และยังต้องมีความเชื่อมั่นที่หนักแน่นว่า จะได้รับการปลดปล่อยและการตรัสรู้ นี่เป็นเรื่องยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการปลดปล่อยและการตรัสรู้คืออะไร ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะพิจารณาได้อย่างไรว่ามันเป็นไปได้หรือไม่ได้ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ถ้าเราไม่คิดว่ามันเป็นไปได้ มันจะเป็นการเสแสร้งไปหน่อยหรือเปล่าในการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่คิดว่ามันจะมีอยู่จริง จากนั้น มันก็จะกลายเป็นเกมบ้า ๆ อะไรบางอย่างที่เรากำลังเล่นอยู่ การปฏิบัติธรรมของเราจึงไม่เป็นจริง

เราต้องมีความเชื่อมั่นจริง ๆ และสิ่งนี้ต้องอาศัยการศึกษาและความเข้าใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งการคิดและการทำสมาธิที่ลึกซึ้งด้วย เราต้องเชื่อมั่นว่า ไม่เพียงแต่จะหลุดพ้นและการตรัสรู้เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นไปได้ที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วย แต่อย่าไปคิดว่ามีเพียงพระศากยมุนีเท่านั้นที่จะบรรลุเป้าหมายได้ แต่ฉันทำไม่ได้ มันเป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จและเป็นไปได้ที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จเช่นกัน เราต้องเข้าใจว่า เราต้องทำอะไรเพื่อกำจัดความสับสนของเรา สิ่งที่จะกำจัดความสับสนได้คืออะไร สิ่งที่จะกำจัดความสับสนได้ก็คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้น เราต้องเข้าใจว่าความเข้าใจที่ถูกต้องสามารถเอาชนะความสับสนและกำจัดความสับสนได้อย่างไรเพื่อที่ว่ามันจะไม่กลับมาอีก จากผลทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นว่าสถานที่ปฏิบัติงานจริงในการปฏิบัติธรรมคือ ในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง มันเกี่ยวข้องกับการจัดการกับปัญหา ความสับสน และความยากลำบากในชีวิตของเราทุกช่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง

การปฏิบัติธรรมต้องใช้การพิจารณาตัวเอง

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงแค่การขอเวลานอกจากชีวิต คือ ไม่ใช่แค่การไปที่ถ้ำปฏิบัติธรรมที่เงียบสงบ หรือแม้แต่แค่ไปที่ห้องของเราและนั่งบนเบาะเพื่อหลีกหนีจากการจัดการกับชีวิตของเรา การหลีกหนีไม่ใช่จุดมุ่งเน้นของการปฏิบัติธรรม เมื่อเราไปที่เงียบ ๆ เพื่อทำสมาธิ เราทำเช่นนั้นเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการจัดการกับปัญหาในชีวิต เน้นชีวิตเป็นหลัก สิ่งที่มุ่งเน้นไม่ได้อยู่ที่การคว้าเหรียญโอลิมปิกจากการนั่งและทำสมาธิ! ทั้งหมดของการปฏิบัติธรรมคือ การประยุกต์ใช้พระธรรมในชีวิตของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการพิจารณาตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงพยายามให้ความสนใจกับสภาวะทางอารมณ์ แรงจูงใจ ทัศนคติ และรูปแบบพฤติกรรมที่บีบบังคับของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องระวังอารมณ์ที่รบกวนเป็นพิเศษ ลักษณะของอารมณ์หรือทัศนคติที่รบกวนที่ระบุไว้คือ เมื่อมันเกิดขึ้น มันจะทำให้เรา และ/หรือคนอื่นรู้สึกไม่สบายใจ เราสูญเสียจิตใจที่สงบและควบคุมมันไม่ได้ นี่เป็นคำจำกัดความที่มีประโยชน์มาก เพราะการรู้จักมัน ก็จะช่วยให้เรารับรู้ได้ว่า เรากำลังทำอยู่อะไรภายใต้อิทธิพลของสิ่งนั้น เราสามารถรู้ได้ว่ามีบางอย่างที่รบกวนจิตใจของเราอยู่หากเรารู้สึกไม่สบายใจ ในช่วงเวลาดังกล่าว เราจำเป็นต้องตรวจสอบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นภายในและใช้ยาแก้พิษแก้ไขมันให้ถูกต้อง

สำหรับสิ่งนี้ เราจำเป็นต้องมีความไวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา และการที่จะทำทุกอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอารมณ์ของเรา ถ้าเราพบว่ามันรบกวน มันจำเป็นต้องใช้การรับรู้ว่าถ้าเรากระทำในทางที่ถูกรบกวนและทำให้รบกวนนั้น มันจะสร้างความทุกข์มากมายทั้งสำหรับเราและคนอื่น ๆ เราไม่ต้องการสิ่งนั้น เรามีเพียงพอสิ่งนั้นแล้ว และถ้าเราอารมณ์ไม่ดี เราจะสามารถช่วยเหลือใครได้อย่างไร

ความยืดหยุ่น

การปฏิบัติธรรมยังต้องอาศัยความคุ้นเคยกับกำลังของฝ่ายตรงข้ามหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองเท่านั้น ชีวิตของเราซับซ้อนมาก และยาแก้พิษชนิดหนึ่งก็มักจะไม่ได้ผลเสมอไป การปฏิบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะไม่มีประสิทธิผลสูงสุดในทุกสถานการณ์ การจะนำสิ่งต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้นั้น ต้องอาศัยความยืดหยุ่น และวิธีการต่าง ๆ มากมาย ถ้านี่ไม่ได้ผล เราก็ไปทำแบบนั้น ถ้านั่นไม่ได้ผล เราก็ลองทำแบบนี้

อาจารย์ของผมที่ชื่อ เซนชับ เซอคง รินโปเช (Tsenshap Serkong Rinpoche) เคยบอกว่า เมื่อคุณพยายามทำอะไรบางอย่างในชีวิต ควรมีแผนที่เป็นทางเลือกไว้สักสองหรือสามแผนเสมอ ถ้าแผน ก ไม่ได้ผล คุณก็จะต้องไม่ยอมแพ้ นั่นเป็นเพราะคุณมีแผนสำรอง ข หรือ ค  หนึ่งในแผนนั้นจะใช้งานได้ในที่สุด ผมพบว่าสิ่งนี้เป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก เช่นเดียวกันกับพระธรรม หากวิธีการ ก ใช้ไม่ได้ผลในบางสถานการณ์ เราจะมีแผนสำรองไว้เสมอ คือมีสิ่งอื่นที่เราสามารถหันไปหาได้ เห็นได้ชัดว่า ทั้งหมดนี้มาจากการศึกษาเรียนรู้วิธีการและการทำสมาธิต่าง ๆ ซึ่งจากนั้น เราก็ฝึกฝนเตรียมความพร้อม เช่นเดียวกับการฝึกร่างกาย เราพยายามฝึกฝนตนเองให้คุ้นเคยกับวิธีการเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงเมื่อเราต้องการ เราจำเป็นต้องมองว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่งานอดิเรก แต่เป็นพันธะสัญญาที่ต้องทำเป็นประจำ

การหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง

เรานำการปฏิบัติธรรมมาใช้ในครอบครัวของเรา เรานำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการกับพ่อแม่ กับลูก ๆ ของเรา และกับคนที่ทำงาน ในการทำเช่นนี้ เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความสุดโต่งต่าง ๆ ซึ่งเราได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไปแล้วเล็กน้อย เราต้องหลีกเลี่ยงความสุดโต่งในการกล่าวโทษผู้อื่นต่อปัญหาของเรา หรือการตำหนิตัวเองโดยสิ้นเชิง ต้องคิดว่า เราทั้งคู่มีส่วนร่วมในปัญหาเหล่านั้น เราอาจพยายามทำให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันง่ายที่สุดที่จะเปลี่ยนตัวเอง

ฉะนั้นแล้ว การพัฒนาตนเองจึงเป็นจุดที่จะต้องมุ่งเน้น แต่ในการทำเช่นนี้ เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงการหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากเกินไป ด้วยความหมกมุ่นในตัวเอง เรามักจะมองแค่ตัวเอง และไม่ให้ความสำคัญกับใครอื่น สิ่งนี้จะตอกย้ำความรู้สึกที่ว่า เราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และปัญหาของเราคือปัญหาที่สำคัญที่สุดในโลก ปัญหาของคนอื่นไม่มีความสำคัญหรือมีความเจ็บปวด

อีกอย่างที่สุดโต่งคือ การคิดว่าเราแย่หรือเราดีหมด เป็นเรื่องจริงที่เราต้องตระหนักรู้ถึงด้านที่เป็นปัญหาของเรา ด้านที่เราต้องพัฒนาต่อไป แต่เราต้องตระหนักรู้ถึงด้านบวกของเราและคุณสมบัติด้านบวกของเราด้วย เพื่อที่เราจะได้พัฒนามันให้มากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเราชาวตะวันตกหลายคนมีความนับถือตนเองต่ำ หากเราจดจ่อกับปัญหาและความสับสนของเรามากเกินไป สิ่งนี้ก็จะตอกย้ำความนับถือตนเองที่ต่ำนั้นได้อย่างง่ายดายเข้าไปอีก นี่ไม่ใช่ประเด็นเลย

ในขณะเดียวกันกับการเฝ้าดูอารมณ์ที่รบกวนเรา เราต้องสร้างสมดุลด้วยการจำได้ถึงคุณสมบัติที่ดีของเราด้วย แม้แต่คนที่โหดร้ายที่สุดก็ยังมีประสบการณ์ของคุณสมบัติที่ดีบางอย่าง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์ในการอุ้มลูกสุนัขหรือลูกแมวไว้บนตัก ลูบคลำ และมีรู้สึกอบอุ่นเล็กน้อยต่อมัน อย่างน้อยที่สุด เกือบทุกคนมีประสบการณ์แบนั้น  ดังนั้น เราจึงควรตระหนักว่า เราสามารถให้ความอบอุ่นเช่นนี้ได้ และด้วยวิธีนี้ เราก็มองเห็นด้านบวกของเราเช่นกัน การปฏิบัติธรรมไม่ใช่แค่การทำงานในด้านลบของเราเท่านั้น มันต้องมีความสมดุล เราจำเป็นต้องเสริมสร้างคุณสมบัติด้านบวกของเราด้วย

ในการทำเช่นนี้ การพยายามรักษาสมดุลระหว่างการมองข้อบกพร่องและคุณสมบัติที่ดีของเรา เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความสุดโต่งอีกชุดหนึ่ง คือ ความรู้สึกผิด “ฉันแย่ ฉันควรปฏิบัติ และเนื่องจากฉันไม่ได้ปฏิบัติ ฉันจึงยิ่งแย่ลงไปอีก” คำว่าควรนี้จะต้องถูกตัดออกไปจากวิธีมองการปฏิบัติธรรมของเรา ไม่ใช่เรื่องของ “ควร” หากเราต้องการกำจัดปัญหาที่เรามี และหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทัศนคติที่แข็งแรงที่สุดคือ แค่คิดง่าย ๆ ว่า “ถ้าฉันต้องการกำจัดปัญหาของฉัน การปฏิบัตินี้จะกำจัดได้” ตอนนี้ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติหรือไม่ นั่นก็เป็นทางเลือกของเราเอง ไม่มีใครพูดว่า “คุณควรทำสิ่งนี้ และถ้าคุณไม่ทำ คุณไม่ดี”

แต่เราต้องหลีกเลี่ยงความสุดโต่งอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็คือสุดโต่งว่า “เราทุกคนสมบูรณ์แบบ เพียงแค่เห็นธรรมชาติของความเป็นพระพุทธเจ้าของคุณ และทุกอย่างก็สมบูรณ์แบบ” นี่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะอาจนำไปสู่ทัศนคติที่เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เราไม่จำเป็นต้องหยุด หรือละทิ้งทางลบใด ๆ ของเราเพราะเราสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองนี้ คือรู้สึกว่าเราแย่ หรือรู้สึกว่าเราสมบูรณ์แบบ โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องรับผิดชอบตัวเอง นั่นคือกุญแจหลักในการบูรณาการพระธรรมในชีวิตประจำวันของเรา เรารับผิดชอบตัวเองในการทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของเรา

แรงบันดาลใจ

ในขณะที่กำลังพัฒนาตัวเอง เราสามารถรับเอาแรงบันดาลใจจากอาจารย์ที่สอนการปฏิบัติทางศาสนา รวมทั้งจากชุมชนของคนอื่น ๆ ที่กำลังปฏิบัติกับเราได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เรื่องราวที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับปรมาจารย์ต่าง ๆ เมื่อหลายศตวรรษก่อนที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ไม่ใช่แหล่งที่มาของแรงบันดาลใจที่มั่นคงจากอาจารย์ นั่นเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อมโยงด้วย และมักจะมีแนวโน้มที่จะนำเราไปสู่การเดินทางแห่งความมหัศจรรย์ทั้งหมด ที่ดีที่สุดคือ ตัวอย่างจากคนที่เรามีการติดต่อด้วย แม้ว่าการติดต่อนั้นจะน้อยมากก็ตาม

พระพุทธเจ้าหรืออาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งหลายไม่ได้พยายามทำให้เราประทับใจ และไม่ได้พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เรา ตัวอย่างก็คือ พวกเขาเหมือนดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ไม่ได้พยายามทำให้ผู้คนอบอุ่น มันก็เป็นแค่อย่างที่มันเป็นคือ ให้ความอบอุ่นแก่สิ่งอื่น ๆ ตามธรรมชาติของมัน เช่นเดียวกันกับอาจารย์ผู้สอนศาสนาที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ท่านสร้างแรงบันดาลใจให้เราอย่างเป็นปกติวิสัย และเป็นธรรมชาติจากวิธีการดำเนินชีวิต ลักษณะนิสัย และวิธีจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ของพวกท่าน มันไม่ใช่มายากล สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจที่สุดคือ สิ่งที่เป็นจริงและติดดิน

ผมยังจำท่านดุดจม รินโปเช (Dudjom Rinpoche) ได้ ท่านมรณภาพเมื่อหลายปีก่อน ท่านเป็นหัวหน้าของนิกายญิงมา และเป็นหนึ่งในอาจารย์ของผม ท่านเป็นโรคหอบหืดที่น่ากลัว ผมก็เป็นโรคหอบหืดเหมือนกัน ดังนั้น ผมจึงรู้ว่าการหายใจลำบากมันเป็นอย่างไร ผมรู้ว่ามันยากแค่ไหนที่จะต้องสอนเมื่อคุณหายใจไม่ได้ตามปกติ เพราะพลังงานทั้งหมดของคุณต้องมุ่งตรงเข้าไปข้างในเพื่อให้มีอากาศเพียงพอ เป็นเรื่องยากมากที่พลังงานของคุณจะออกไปในสถานการณ์นั้น แม้ดุดจม รินโปเช ซึ่งเป็นโรคหอบหืดมาก ท่านก็ยังคงขึ้นไปบนเวทีและทำการสอนของท่าน ท่านไม่ได้ถูกรบกวนแม้แต่น้อยจากโรคหอบหืดและจัดการกับโรคนี้ได้อย่างเหลือเชื่อพร้อมกับให้คำสอนที่น่าทึ่ง นี่เป็นแรงบันดาลใจอย่างไม่น่าเชื่อ ติดดินมาก ไม่ใช่มายากลใด ๆ มันคือการจัดการกับสถานการณ์ในชีวิตจริงต่าง ๆ และนั่นเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ

ขณะที่เราดำเนินไปตามเส้นทางการปฏิบัติทางจิตใจและมีก้าวหน้าในสิ่งที่ทำนั้น เราจะได้รับแรงบันดาลใจจากตัวเราเองด้วย นี่เป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจที่สำคัญเช่นกัน เราได้รับแรงบันดาลใจจากความก้าวหน้าของเราเอง แต่เราจะต้องมีความละเอียดอ่อนมากในการทำสิ่งนี้ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดการกับปัจจัยทางอารมณ์นี้ได้ เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดความหยิ่งทะนงและภาคภูมิใจถ้าเราก้าวหน้า ดังนั้น เราต้องกำหนดอย่างรอบคอบว่า ความก้าวหน้าของเราหมายถึงอะไร

ความก้าวหน้าบนเส้นทางปฏิบัติ

ก่อนอื่น เราต้องตระหนักว่า ความก้าวหน้าไม่เคยเป็นเส้นตรง มันขึ้นและลง และขึ้นและลง นี่เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสังสารวัฏ และไม่ใช่แค่การพูดถึงการเกิดใหม่ที่สูงขึ้นและต่ำลงเท่านั้น การขึ้นลงยังหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ตอนนี้ ฉันรู้สึกมีความสุข ตอนนี้ฉันรู้สึกไม่มีความสุข อารมณ์ของเราขึ้น ๆ ลง ๆ ตอนนี้ ฉันรู้สึกอยากปฏิบัติ ตอนนี้ฉันไม่รู้สึกอยากปฏิบัติ มันขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าแปลกใจ ในความเป็นจริงมันจะเป็นเช่นนั้นต่อไปจนกว่าเราจะกลายเป็นอรหันต์ ที่ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากสังสารวัฏ ตั้งแต่นี้ไปจนถึงจุดนั้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ก้าวหน้าอย่างไม่น่าเชื่อนั้น สังสารวัฏก็จะยังคงมีขึ้นมีลงต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้น อย่าท้อแท้เมื่อหลังจากปฏิบัติมาเป็นเวลานาน ทันใดนั้นเราก็ประสบกับปัญหาความสัมพันธ์เรื่องรักใคร่ส่วนตัว ซึ่งจู่ ๆ เราก็จะอารมณ์เสีย สิ่งนี้จะเกิดขึ้น! ไม่ได้หมายความว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติที่แย่มาก มันก็แค่เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเห็นถึงความจริงของสภาพสังสารวัฏของเรา

ปาฏิหาริย์มักจะไม่เกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรม หากเราต้องการนำพระธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน อย่าคาดหวังถึงปาฏิหาริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่อยู่ในความก้าวหน้าของเรา เราจะวัดความก้าวหน้าตามความเป็นจริงได้อย่างไร สมเด็จองค์ดาไลลามะกล่าวว่า อย่ามองเพียงการปฏิบัติธรรมเพียงแค่ปีหรือสองปี มองในแง่ของการปฏิบัติห้าหรือสิบปี เพื่อตรวจสอบว่า “ฉันเป็นคนใจเย็นกว่าเมื่อห้าปีหรือสิบปีที่แล้วหรือเปล่า ฉันสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ยากขึ้นได้หรือไม่ และไม่อารมณ์เสียเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับฉัน” ถ้าเราเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า เราก้าวหน้าไปพอสมควร และนั่นถือเป็นแรงบันดาลใจ เรายังคงมีปัญหาอยู่ แต่สิ่งนี้ทำให้เรามีพลังที่จะก้าวต่อไป เราจะไม่อารมณ์เสียในสถานการณ์ที่ยากลำบากเมื่อสิ่งต่าง ๆ เป็นไปในทางที่เลวร้าย เราสามารถหายจากอาการเหล่านั้นได้เร็วขึ้น

เมื่อเราพูดถึงตัวเราในฐานะเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ ประเด็นหลักคือ แรงบันดาลใจนี้ทำให้เรามีแรงที่จะเดินต่อไปบนเส้นทางการปฏิบัตินั้น นี่เป็นเพราะเราเชื่อมั่นว่า เรากำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเราเชื่อมั่นเพียงแค่ว่า เราจะไปในทิศทางที่ถูกต้องหากเรามีความคิดที่สมจริงว่าการไปในทิศทางนั้นหมายถึงอะไร กล่าวคือ ในขณะที่ไปในทิศทางทั่วไปนั้น เราก็จะยังมีขึ้นและลงต่อไปอย่างต่อเนื่อง

สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดทั่วไปบางประการในการบูรณาการการปฏิบัติธรรมเข้ากับชีวิตประจำวัน ผมหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ ขอบคุณครับ

Top