การเตรียมพร้อมที่จะทำสมาธิ

Week%203%20preliminaries%20to%20meditation%20%281%29

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำสมาธิ

จริง ๆ แล้วในการทำสมาธินั้น เราต้องมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำสมาธิ มีหลายรายการหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการทำสมาธิ แต่โดยปกติแล้ว สิ่งเหล่านี้จะได้รับการอภิปรายหรือนำเสนอในบริบทของการไปเข้าวิเวกปฏิบัติธรรม ในขณะที่พวกเราส่วนใหญ่ทำสมาธิอยู่ที่บ้าน

แม้แต่ที่บ้านเอง สิ่งที่จะช่วยได้มากที่สุดคือการไม่มีสิ่งรบกวน สภาพแวดล้อมจะต้องเงียบสงบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พวกเราหลายคนอาศัยอยู่บนถนนที่มีเสียงดังและการจราจรที่คับคั่ง ดังนั้น การนั่งสมาธิในตอนเช้าตรู่หรือตอนดึกเมื่อการจราจรคับคั่งน้อยลงก็จะดีกว่า นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมไม่ควรมีเสียงเพลง และไม่ควรมีโทรทัศน์ในห้องถัดไปด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญมาก หากไม่สามารถมีสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบได้ ให้ลองใช้ที่อุดหู มันไม่จำเป็นต้องปิดกั้นเสียงรบกวนทั้งหมด แต่แน่นอนว่าจะทำให้เสียงดังน้อยลง

พวกเราหลายคนไม่ได้มีสิทธิพิเศษที่จะมีห้องทำสมาธิแยกต่างหาก คุณสามารถใช้พื้นที่ใดก็ได้ที่คุณมีอยู่ จะทำสมาธิบนเตียงของคุณก็ได้ถ้าคุณต้องทำ นั่นไม่ใช่ปัญหา ชาวทิเบตส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอินเดียก็ทำสมาธิบนเตียงของพวกเขาเช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากคือ การมีห้องที่สะอาดและเรียบร้อย หากสภาพแวดล้อมสะอาดและเป็นระเบียบ สิ่งนั้นย่อมจะส่งผลต่อจิตใจให้สะอาดและเรียบร้อย หากห้องนั้นเลอะเทอะ ยุ่งเหยิง หรือสกปรก จิตใจก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทางเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ข้อหนึ่งในการเตรียมพร้อมที่มักจะมีการระบุไว้เป็นข้อกำหนดก่อนการทำสมาธิเสมอก็คือ การทำความสะอาดห้องทำสมาธิ และถวายเครื่องบูชา แม้ว่าจะเป็นแค่น้ำเพียงถ้วยเดียวก็ตาม เราต้องการแสดงความเคารพต่อสิ่งที่เรากำลังทำ และหากเรากำลังคิดในแง่ของการอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มาปรากฎ เราก็อยากเชิญพวกเขาไปที่ห้องที่สะอาด ไม่รกรุงรัง และสกปรก แม้จะเป็นเพียงแค่ระดับจิตวิทยาปกติทั่วไปก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ต้องเคารพในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และปฏิบัติต่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งพิเศษ แต่คำว่า “พิเศษ” ไม่ได้หมายถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่งดงามประณีตบรรจงเหมือนในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีทั้งธูปและเทียน แต่เรียบง่าย สะอาด และให้เกียรติ

ท่าทำสมาธิ

ในวัฒนธรรมเอเชียที่แตกต่างกัน ท่าทางที่ผู้คนใช้ในการทำสมาธิแตกต่างกันไป ท่าการทำสมาธิของอินเดีย/ทิเบต จีน/ญี่ปุ่น และไทยล้วนแตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงไม่สามารถพูดได้ว่า ท่าใดท่าหนึ่งเป็นท่าที่ถูกต้องเท่านั้น ชาวอินเดียและชาวทิเบตนั่งขัดสมาธิ บ่อยครั้งที่ชาวญี่ปุ่นและชาวจีนบางคนพับขาไว้ข้างใต้ คนไทยนั่งเอาขาไปด้านข้าง สำหรับการปฏิบัติแบบตันตระ ซึ่งเราทำงานกับพลังงานของร่างกายจึงจำเป็นต้องใช้ท่านั่งดอกบัวเต็มรูปแบบ แต่พวกเราส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัตินั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมีความต้องการที่จะสามารถปฏิบัติแบบนั้นได้ ขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อนั่งในท่าดอกบัวนี้ เพราะมันยากมากที่จะเริ่มใช้ท่านั่งนี้ในภายหลังที่อายุมากขึ้นแล้ว สำหรับชาวตะวันตก หากคุณสามารถนั่งในท่าเอเชียแบบดั้งเดิมเหล่านี้ท่าใดท่าหนึ่งได้ ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าไม่ได้ จะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลังต้องตรง

กำกับการจ้องมอง

ตราบเท่ากับที่มันสัมพันธ์กับดวงตา การทำสมาธิบางอย่างทำโดยการหลับตา บ้างก็ทำโดยลืมตา บ้างก็ก้มตาลง บ้างก็เงยขึ้น ขึ้นอยู่กับการทำสมาธินั้น ๆ โดยทั่วไปแล้ว ชาวทิเบตจะกีดกันการทำสมาธิด้วยการหลับตา นอกเหนือไปจากความจริงที่ว่า มันจะหลับง่ายขึ้นกว่าถ้าคุณหลับตา และยังมีแนวโน้มที่จะสร้างอุปสรรคทางจิตใจที่ทำให้คุณรู้สึกว่า เพื่อที่จะนั่งสมาธิ คุณจะต้องหลับตาของคุณ ถ้าคุณรู้สึกเช่นนั้นแล้ว มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นในการที่จะบูรณาการสิ่งที่คุณกำลังพัฒนาในการทำสมาธินั้นเข้ากับชีวิตจริง ตัวอย่างเช่น ถ้าฉันกำลังพูดคุยอยู่กับใครบางคน และเพื่อสร้างความรู้สึกรัก ฉันต้องหลับตา นั่นก็คงจะแปลกดี ดังนั้น ในการทำสมาธิส่วนใหญ่ตามธรรมเนียมของชาวทิเบตแล้ว คุณจะต้องกึ่งลืมตา กึ่งหลับตา โฟกัสอย่างหลวม ๆ ไม่ต้องเคร่งนัก และมองลงไปที่พื้น

เบาะนั่ง

ถ้าคุณนั่งขัดสมาธิ คุณจำเป็นต้องเลือกเบาะรองนั่งที่เหมาะสม บางคนสามารถนั่งราบบนพื้นได้สบาย ๆ และขาก็ไม่ชา ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จองค์ดาไลลามะนั่งแบบนี้อยู่บนบัลลังก์การสอนตอนที่ท่านสอน แต่สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ ถ้าเรานั่งโดยไม่มีเบาะรอง ขาของเราจะชาเร็วขึ้น ดังนั้น หากคุณมีปัญหาดังกล่าว ให้ลองนั่งด้วยเบาะรองนั่งใต้ก้นของคุณเพื่อให้สะโพกสูงกว่าหัวเข่า เลือกประเภทของเบาะที่เหมาะกับคุณมากที่สุด หนาหรือบาง แข็งหรือนุ่ม เป็นต้น แต่ละคนมีความแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณรู้สึกสบาย และเบาะของคุณป้องกันไม่ให้ขาของคุณชา เพราะนั่นอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดได้ ศูนย์พุทธศาสนาหลายแห่งมีการใช้เบาะรองนั่งหนา รูปร่างกลม หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบของญี่ปุ่น แต่เบาะรองนั่งแบบญี่ปุ่นสำหรับการทำสมาธิของนิกายเซนนั้นมีจุดประสงค์สำหรับการนั่งในแบบท่าญี่ปุ่นโดยให้ขาอยู่ข้างใต้ บางทีบางคนสามารถนั่งขัดสมาธิได้อย่างสบาย ๆ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เบาะพวกนี้อาจสูงเกินไปและแข็งเกินไป ถ้าศูนย์ของคุณมีเฉพาะเบาะนั่งที่หนาแบบนี้ และคุณนั่งขัดสมาธิ คุณอาจต้องนำเบาะรองนั่งของคุณมาเอง 

เลือกเวลาที่จะทำสมาธิ

สำหรับคนส่วนใหญ่เวลาที่ดีที่สุดในการนั่งสมาธิถ้าไม่ใช่อย่างแรกตอนเช้าก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำในตอนกลางคืนเพื่อให้มีสิ่งรบกวนน้อยลงในแง่ของการทำกิจวัตรประจำวัน บางคนตื่นตัวในตอนเช้า ส่วนบางคนตื่นตัวในตอนกลางคืนมากกว่า ที่เรียกว่า “คนตื่นเช้า” และ “นกฮูกกลางคืน” คุณรู้จักตัวเองและวิถีชีวิตของคุณดีกว่าใคร ๆ ดังนั้น คุณสามารถกำหนดได้ว่าช่วงเวลาใดของวันที่ดีที่สุดสำหรับคุณในการทำสมาธิ

สิ่งที่ไม่แนะนำเลยคือ การทำสมาธิเมื่อง่วงนอน ถ้าคุณง่วงนอนตอนกลางคืนแต่คุณพยายามทำสมาธิก่อนนอน คุณอาจเริ่มง่วงและหลับไปในระหว่างการทำสมาธิ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย และเช่นเดียวกันในตอนเช้า ถ้าคุณยังครึ่งหลับครึ่งตื่น การทำสมาธิ ของคุณจะไม่ได้ผลมากนัก ดังนั้น คุณตัดสินใจด้วยตัวคุณเองว่าอะไรดีที่สุด ไม่มีปัญหากับการดื่มกาแฟหรือน้ำชาก่อนที่คุณจะทำสมาธิในตอนเช้า แม้ว่าชาวทิเบตส่วนใหญ่จะไม่มีนิสัยแบบนั้นก็ตาม

อาจารย์ของผมที่ชื่อ เซนชับ เซอคง รินโปเช (Tsenshap Serkong Rinpoche) ซึ่งเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของสมเด็จองค์ดาไลลามะ ท่านได้บรรยายถึงวิธีการที่พวกเขานั่งสมาธิในวิทยาลัยสงฆ์ที่สอนพุทธศาสนาลัทธิตันตระในทิเบตที่ท่านได้รับการฝึกปฏิบัติว่า พระทั้งหมดจะนั่งอยู่ในศาลาปฏิบัติธรรม และพวกท่านจะนอนที่นั่น นั่งอยู่ในที่ของตน เอนตัวพิงศีรษะบนตักของคนข้างๆ ชาวทิเบตไม่มีปัญหาเรื่องของกายสัมผัส เสียงระฆังจะดังขึ้นเพื่อปลุกให้พวกท่านตื่นในตอนเช้าตรู่มาก ๆ และพวกท่านถูกคาดหวังว่าจะลุกขึ้นนั่ง และเริ่มต้นการทำสมาธิ ท่องบทสวดมนต์ เป็นต้น เว้นเสียแต่ว่าถ้าคุณเป็นหมอที่คุ้นเคยกับการตื่นขึ้นมากลางดึกและทำการผ่าตัดหรืออะไรทำนองนั้น มันคงอาจจะยากที่จะเริ่มต้นทำสมาธิทันทีที่ตื่น

ทำสมาธินานแค่ไหน

เมื่อคุณเพิ่งเริ่มฝึกสมาธิ การทำสมาธิของคุณควรทำอย่างสั้น ๆ แต่บ่อยครั้ง ในฐานะที่เป็นผู้เริ่มต้นทำ การพยายามทำสมาธิครั้งละหลาย ๆ ชั่วโมงจะกลายเป็นเรื่องที่ทรมาน ในบางแห่ง พวกเขาก็จะปฏิบัติตามแบบนั้น แต่โดยทั่วไปแล้ว ชาวทิเบตจะไม่เห็นด้วย เพราะถ้าการทำสมาธิเป็นเรื่องที่น่าทรมาน คุณก็ไม่อยากจะทำมัน! คุณจะรออย่างใจจดใจจ่อให้หมดเวลาของการทำสมาธิ ดังนั้น ในการเริ่มต้น การทำสมาธิเพียงแค่ห้านาทีหรืออะไรแบบนั้นก็เพียงพอแล้ว ในวัดสายเถรวาทพวกท่านสลับการนั่งสมาธิกับการเดินจงกรม เพื่อจะได้ไม่ปฏิบัติแบบเดียวกันนานเกินไป

การเปรียบเทียบที่ชาวทิเบตใช้คือ ถ้าเพื่อนมาเยี่ยม และเขาอยู่นานเกินไป คุณจะหมดความอดทน และอยากให้เพื่อนกลับไป หลังจากที่เพื่อนของคุณกลับไป คุณก็ไม่อยากที่จะเห็นเขาอีก แต่ถ้าเพื่อนของคุณกลับไปขณะที่คุณยังอยากใช้เวลากับเพื่อนคนนั้นด้วยกันอีก คุณก็จะมีความสุขมากที่ได้เห็นเพื่อนคนนั้นอีกครั้งในไม่ช้า ในทำนองเดียวกันกับท่าทำสมาธิเบาะที่นั่งทำสมาธิ และระยะเวลาของการทำสมาธิของเราควรจะเป็นแบบที่ให้ความรู้สึกสบายเพื่อที่จะทำให้เรากระตือรือร้นเกี่ยวกับการปฏิบัติของเรา

การกำหนดความตั้งใจ

ก่อนที่จะทำสมาธิ สิ่งสำคัญคือ กำหนดความตั้งใจของคุณขึ้นมา ในความเป็นจริง ขอแนะนำให้คุณกำหนดความตั้งใจของคุณในทันทีที่คุณลืมตาตื่นเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า ทันทีที่คุณตื่นขึ้นมาในขณะที่ยังอยู่บนเตียงนั้น คุณสามารถกำหนดความตั้งใจของคุณสำหรับวันนั้นได้ คุณสามารถคิดแบบนี้ก็ได้ว่า “วันนี้ ฉันจะพยายามไม่โกรธ ฉันจะพยายามอดทนให้มากขึ้น ฉันจะพยายามพัฒนาความรู้สึกเชิงบวกต่อผู้อื่นให้มากขึ้น ฉันจะพยายามทำวันนี้ให้เป็นวันที่มีความหมาย และไม่ทำให้เสียเวลาเปล่า”

มีปริศนาธรรมที่ยอดเยี่ยมในพุทธศาสนานิกายเซนที่ผมชอบมากที่สุดที่ว่า “ความตายมาได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นจงผ่อนคลาย!” ถ้าคุณลองคิดดูเกี่ยวกับความหมายนั้น มันเป็นความคิดที่ลึกซึ้งมาก ถ้าคุณวิตกกังวลมาก และอารมณ์เสียมากที่ความตายมาได้ตลอดเวลา คุณก็จะไม่สามารถทำสิ่งใดให้สำเร็จได้ คุณอาจมีความคิดเช่น “ฉันทำไม่พอ ฉันไม่ดีพอ” แต่ถ้าคุณรู้ว่าความตายสามารถมาได้ทุกเมื่อ และคุณรู้สึกผ่อนคลาย คุณก็จะทำอะไรที่คุณสามารถทำได้ตามแนวทางที่มีความหมายและเป็นจริง โดยไม่ต้องวิตกกังวล กระวนกระวาย หรือเครียด ดังนั้น โปรดจำไว้ว่าความตายมาได้ทุกเมื่อ และจงผ่อนคลาย!

ก่อนการทำสมาธิ เราจะกำหนดความตั้งใจว่า “ฉันจะพยายามทำสมาธิเป็นเวลากี่นาที ฉันจะพยายามมีสมาธิ ถ้าฉันพบว่าตัวเองเริ่มหลับ ฉันจะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้น ถ้าความใส่ใจของฉันหลงทางไป ฉันจะพยายามดึงมันกลับมา” กระทำสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังอย่าเพียงแค่พูดคำเหล่านี้เท่านั้น พยายามคิดถึงความตั้งใจจริง ๆ ของคุณ และทำตามนั้นให้ได้โดยตลอด การรักษาความตั้งใจจริงของคุณไว้อาจเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะถ้าคุณติดนิสัยที่ไม่ดีในการใช้ช่วงการทำสมาธิเพื่อคิดถึงประเด็นอื่น ๆ แม้ว่าจะเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมะอื่น ๆ ก็ตาม นั่นเป็นนิสัยที่แก้ยากมาก ผมพูดจากประสบการณ์ของผมเอง มันเป็นนิสัยที่ยากที่จะแก้ ดังนั้น พยายามกำหนดความตั้งใจที่ถูกต้อง แล้วทำตามความตั้งใจนั้น ก่อนการทำสมาธิของคุณ

แรงจูงใจ

ต่อไปคือ เรื่องของแรงจูงใจ ในบริบทของพุทธศาสนาแบบทิเบต แรงจูงใจประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ เป้าหมาย เรากำลังพยายามจะทำอะไรให้สำเร็จ เป้าหมายมาตรฐานได้รับการอธิบายไว้ใน ลัม-ริม (lam-rim)  หรือ “ขั้นตอนการปฏิบัติตามเส้นทางตามลำดับ” ตามที่อธิบายไว้ใน ลัม-ริม นั้น จุดมุ่งหมายคือ (ก) ปรับปรุงชีวิตในชาติหน้า (ข) ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากการเกิดใหม่ และ (ค) ไปสู่การตรัสรู้ เพื่อให้คุณสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากการเกิดใหม่ ส่วนที่สองคือ อารมณ์ที่ผลักดันให้เราไปถึงเป้าหมายนั้น

ในการคิดถึงเกี่ยวกับแรงจูงใจของเรา สิ่งสำคัญคือ เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ฉันเชื่อเรื่องการเกิดใหม่จริงหรือไม่ พวกเราส่วนใหญ่ไม่เชื่อ ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า “ฉันกำลังทำสิ่งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า ฉันจะได้การเกิดที่มีค่าเป็นมนุษย์ที่มีค่าอีกครั้งหนึ่งในชาติหน้า” หรือ “ฉันกำลังทำสิ่งนี้เพื่อจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากการเกิดใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ” หรือ “ฉันกำลังทำสิ่งนี้เพื่อจะได้ตรัสรู้ แล้วฉันจะได้ช่วยคนอื่นให้เป็นอิสระจากการเกิดใหม่” นั่นก็เป็นเพียงแค่คำพูดที่ไม่มีความหมายหากว่าคุณไม่เชื่อในเรื่องของการเกิดใหม่

ดังนั้น หากคุณกำลังปฏิบัติสมาธิโดยเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมเรียกว่า “ธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย”  (Dharma-Lite) ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาที่ปราศจากการเกิดใหม่ ก็ไม่เป็นไร คุณไม่จำเป็นต้องบอกใคร ๆ แต่จงซื่อสัตย์กับตัวเองเกี่ยวกับแรงจูงใจของคุณ “ฉันกำลังทำสิ่งนี้เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ชีวิตของฉันในชั่วชีวิตนี้” นั่นเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้องตราบใดที่เราซื่อสัตย์กับมัน ในทางกลับกันสิ่งสำคัญคือ ต้องเคารพในเป้าหมายระยะยาวที่แท้จริงที่ผมเรียกว่า “ธรรมะที่แท้จริง” (The Real Thing Dharma)” และต้องไม่คิดว่า การปฏิบัติทางพุทธศาสนาเป็นเพียงแค่การปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ในชั่วชีวิตนี้เท่านั้น

ส่วนที่สองของแรงจูงใจของเราคือ อารมณ์ที่ผลักดันให้เราไปถึงเป้าหมายของเรา ซึ่งเป็นระดับแรกของแรงจูงใจสำหรับ ธรรมะที่แท้จริง นั่นคือ “ฉันตั้งเป้าหมายไปที่การเกิดใหม่เป็นมนุษย์ที่มีค่าในชาติหน้า (เป้าหมาย) เพราะฉันกลัวจะเกิดใหม่เป็นแมลงวัน หรือแมลงสาบ หรือเป็นอะไรอื่น ๆ ที่ต่ำกว่านั้น (อารมณ์) ฉันต้องการหลีกเลี่ยงอนาคตเช่นนี้จริง ๆ และฉันมั่นใจว่ามีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงได้”  ในแบบของ ธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย นี้ก็จะเป็น “ฉันตั้งเป้าหมายให้สิ่งต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้ดีในชีวิตและไปได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก (เป้าหมาย) เพราะฉันกลัวความเลวร้ายของมันหากสิ่งต่าง ๆ เลวร้ายลง (อารมณ์ ) และฉันรู้ว่ามีสิ่งที่สร้างสรรค์ที่ฉันสามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น” ไม่ว่าในกรณีใด นี่ไม่ใช่ความหวาดกลัวที่ทำให้เป็นอัมพาตเช่นว่า “เป็นสถานการณ์ที่สิ้นหวัง ฉันจบสิ้นแล้ว”  แต่มันเป็นความรู้สึกที่ดีมีประโยชน์เมื่อเรารู้ว่า “ฉันไม่ต้องการอย่างนั้นจริง ๆ และฉันเห็นว่ามีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้” คล้ายกับความกลัวที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ฉันจะระวัง แต่ไม่ได้หมายความว่ากลัวจนเป็นอัมพาตจนทำให้จะไม่ขับรถเลย

ระดับ ธรรมะที่แท้จริง ที่สองคือ “ฉันรังเกียจ เบื่อหน่าย และผิดหวังกับความทุกข์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดใหม่ (อารมณ์) และฉันต้องการออกไปจากสิ่งนี้ (เป้าหมาย)” สาระสำคัญของอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังการละทิ้งสิ่งเหล่านี้คือ “มันช่างเป็นเรื่องที่น่าเบื่ออย่างมาก ๆ เลยที่จะต้องกลับมาเป็นทารกอีกครั้ง เพื่อเรียนรู้ทุกอย่างอีกครั้ง เพื่อเรียนหนังสือ และทำมาหากินอีกครั้ง มันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายที่ต้องจัดการกับการเจ็บป่วย และการมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ มันเหมือนกับการดูหนังแย่ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ฉันหมายความว่า มันช่างน่าเบื่อแค่ไหน ฉันได้รับมันมากพอแล้วล่ะ!”

แรงจูงใจขั้นสูงสุดมุ่งเป้าไปที่การตรัสรู้ (เป้าหมาย) ด้วยโพธิจิต และขับเคลื่อนด้วยความเห็นอกเห็นใจ (อารมณ์) จะคิดแบบนี้ว่า “ฉันแค่ไม่สามารถรับมันได้อีกแล้วว่าทุกคนมีความทุกข์อยู่มากมาย ฉันจะต้องไปให้ถึงสภาวะที่สามารถช่วยให้ทุกคนพ้นทุกข์ได้”

แรงจูงใจยังครอบคลุมถึงสิ่งที่เราจะทำเมื่อเราได้บรรลุเป้าหมายของเราแล้วด้วย เมื่อเราปฏิบัติตามประเพณีของมหายาน แต่ละระดับของแรงจูงใจจะอยู่ในบริบทของการปฏิบัติเพื่อไปสู่การตรัสรู้ในที่สุด และเมื่อไปถึงจุดนั้น การตรัสรู้นั้นก็จะลงสีสันต่าง ๆ ในสิ่งที่เราจะทำเมื่อได้บรรลุเป้าหมายของเรา

ในระดับของธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายนั้น เราอยากก้าวหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการไปถึงเป้าหมายของการตรัสรู้ในชั่วชีวิตนี้โดยไม่ไร้เดียงสาจนคิดว่ามันจะง่าย แล้วเราก็จะรู้สึกผิดหวังและหดหู่เมื่อเราเข้าใกล้ความตาย และยังคงไปไม่ถึงการตรัสรู้เลย

  • จากระดับของแรงจูงใจธรรมะที่แท้จริงสามระดับ แรงจูงใจระดับแรกคือ “ฉันต้องการได้มาเกิดใหม่ที่สูงค่าเป็นมนุษย์อีกครั้งเพื่อที่จะดำเนินต่อไปบนเส้นทางสู่การตรัสรู้ เพราะจะต้องใช้เวลาหลายชั่วชีวิตในการบรรลุเป้าหมายของฉัน” 
  • แรงจูงใจระดับที่สองคือ “ฉันต้องการเป็นอิสระจากกรรมและอารมณ์ที่รบกวนต่าง ๆ เพราะฉันไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ถ้าฉันโกรธพวกเขา ถ้าฉันยึดติดอยู่กับพวกเขา หรือถ้าฉันมีพฤติกรรมที่บีบบังคับ ฉันไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้จริง ๆ ถ้าฉันยังรู้สึกภูมิใจและหยิ่งทะนงเกี่ยวกับมันอยู่แบบนี้ ดังนั้น ฉันต้องปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้เสียก่อน” 
  • แรงจูงใจระดับสูงสุดคือ “ฉันต้องการที่จะตรัสรู้เพื่อที่ฉันจะได้มีความรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วน เกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือแต่ละคน”  

แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ท่านสองขะปะเน้นย้ำว่า แรงจูงใจเป็นสิ่งที่เราต้องมีตลอดทั้งวัน ไม่ใช่แค่ในช่วงเริ่มต้นของการทำสมาธิเท่านั้น และแรงจูงใจไม่ควรเป็นเพียงแค่คำพูดที่ดี ๆ เท่านั้น เราควรหมายความว่าอย่างนั้นจริง ๆ แล้ว “หมายความว่าอย่างนั้นจริง ๆ” มันหมายความว่าอะไร ก็หมายความว่า เราได้สร้างแรงจูงใจภายในอย่างเต็มที่โดยผ่านการปฏิบัติสมาธิ แรงจูงใจนั้นเป็นอารมณ์ธรรมชาติที่แท้จริง และมันได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวัน

เงียบก่อนการทำสมาธิ

เมื่อเราสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ถูกต้อง และกำหนดความตั้งใจและแรงจูงใจของเราแล้ว เราต้องเงียบ บ่อยครั้งที่ทำสิ่งนั้นได้จากการทำสมาธิด้วยการหายใจบางอย่าง เช่น การนับลมหายใจ มีการปฏิบัติที่ซับซ้อนกว่านี้มากมายที่เราสามารถทำได้ด้วยลมหายใจ แต่เพียงแค่หายใจตามปกติทางจมูก หายใจเข้านับถึง 11 และหายใจออกนับถึง 11 สักสองสามรอบโดยปกติก็จะเพียงพอแล้ว การทำจิตใจให้สงบในลักษณะนี้ทำให้เกิดพื้นที่แห่งความสงบระหว่างสิ่งที่เราทำมาแล้วจนถึงตอนนี้กับสมาธิที่เราจะทำต่อไป การสร้างพื้นที่ดังกล่าว ช่วยให้เราสร้างการเปลี่ยนผ่านระหว่างชีวิตที่วุ่นวายกับการทำสมาธิ

การปฏิบัติ 7 ประการ

บ่อยครั้งที่มักจะได้รับการแนะนำให้เราสร้างพลังเชิงบวกในเริ่มต้นของช่วงการปฏิบัติ และเพื่อทำสิ่งนั้น เราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า “การภาวนา 7 ประการ” หรือ “การปฏิบัติ 7 ประการ” ในบริบทนี้ “ประการ” หมายถึง” ขั้นตอน”

(1) การกราบ ด้วยที่พึ่งและโพธิจิต

ขั้นตอนแรกคือ การกราบ ซึ่งหมายถึงการแสดงความเคารพต่อผู้ที่ตรัสรู้ แสดงความเคารพต่อการตรัสรู้ในอนาคตของเราเอง ซึ่งเรามุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ด้วยโพธิจิต และแสดงความเคารพต่อความเป็นธรรมชาติของพระพุทธเจ้าของเรา ซึ่งจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ดังนั้น การกราบจึงกระทำในบริบทของการวางทิศทางที่ปลอดภัยของที่พึ่งและโพธิจิตที่ตั้งเป้าไว้ในชีวิตของเรา ทิศทางที่ปลอดภัยที่เราปรารถนาจะไปสู่นั้นได้ถูกระบุไว้โดยพระพุทธเจ้า คำสอน และการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าและชุมชนพระสงฆ์ผู้ที่มุ่งหน้าสู่การเป็นอิสระและตรัสรู้ด้วยตนเอง ด้วยจุดมุ่งหมายของโพธิจิต เราตั้งจิตและใจของเราที่จะกลายเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวเราเอง

(2) การถวาย

ขั้นตอนที่สองคือ การถวายเครื่องบูชา ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงถึงความเคารพด้วย

(3) การยอมรับข้อบกพร่อง

ถัดมาคือ การยอมรับความผิดพลาดและข้อบกพร่องของเราอย่างเปิดเผย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า รู้สึกผิดเกี่ยวกับความผิดพลาดของเรา ความรู้สึกผิดนั้นไม่เหมาะสม ความรู้สึกผิดคือ การยึดติดกับบางสิ่งที่เราได้ทำไปแล้วและที่ตัวเราเองเป็นคนทำลงไป ตีตราว่ามันไม่ดีและไม่ปล่อยมันไป  เหมือนกับการไม่เอาขยะทิ้งไป แต่เก็บไว้ในบ้านของเรา และคิดว่า  “ขยะนี้น่ากลัวจริง ๆ เหม็นมาก” แทนที่จะมีอารมณ์แห่งความรู้สึกผิด ขั้นตอนที่สามคือ เสียใจในความผิดพลาดของเรา “ฉันเสียใจกับการกระทำของฉัน และฉันจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำซ้ำอีก ฉันจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อเอาชนะข้อบกพร่องของฉัน”

(4) การชื่นชมยินดี

ขั้นตอนที่สี่คือ การชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นบวกที่เราและผู้อื่นทำ ดังนั้น เราจึงมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นมากขึ้น

(5) การขอคำสอน

จากนั้น เราขอให้อาจารย์และพระพุทธเจ้าสอน “กรุณาสอนข้าพเจ้าตลอดเวลา ข้าพเจ้าเปิดกว้างและเต็มใจรับคำสอนนั้น”

(6) การอ้อนวอนไม่ให้อาจารย์ล่วงลับไป

ขั้นตอนต่อไปคือ “อย่าจากไป อย่าล่วงลับไป ข้าพเจ้าจริงจังกับการเรียนมาก และขอให้ท่านอยู่กับเราต่อไป”

(7) การอุทิศ

สุดท้ายก็มาถึงการอุทิศ ในแง่หนึ่งนั้น การอุทิศคือ การกำกับชี้นำพลังในทางหนึ่ง เราคิดว่า “ไม่ว่าพลังเชิงบวกใด ๆ ความเข้าใจใด ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น มันอาจมีส่วนช่วยให้ความตั้งใจของฉันบรรลุผลสำเร็จได้” การเปรียบเทียบที่ผมชอบใช้ก็คือ การบันทึกงานของเราในคอมพิวเตอร์ ถ้าเราไม่บันทึกมันไว้ในโฟลเดอร์พิเศษ โฟลเดอร์สำหรับ “การปลดปล่อย” หรือ” การตรัสรู้” ค่าเริ่มต้นคือ งานของเราจะถูกบันทึกโดยอัตโนมัติในโฟลเดอร์ “ปรับปรุงสังสารวัฏ” การบันทึกงานของเราไว้ในโฟลเดอร์ “ปรับปรุงสังสารวัฏ” ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้านั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายของเรา ถ้าเราต้องการให้งานของบรรลุสู่การเป็นอิสระหรือการตรัสรู้ เราจำเป็นต้องบันทึกไว้ในโฟลเดอร์โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การบันทึกไว้ในโฟลเดอร์   “การเป็นอิสระ” หรือ “การตรัสรู้” นั่นคือการอุทิศ และเราหมายถึงมันจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงพูดคำเหล่านั้นออกมา เราอุทิศพลังเชิงบวกพร้อมกับอารมณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลังมันด้วยความเห็นอกเห็นใจ เป็นต้น

หลังจากการภาวนา 7 ประการแล้วก็มาถึงการทำสมาธิจริง และในสุดสิ้นลงของการทำสมาธิ เราจะได้อุทิศกันอีกครั้ง

บทสรุป

การทำสมาธิเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก และคำแนะนำในการทำสมาธิก็ค่อนข้างแม่นยำ ในที่นี้ ได้นำเสนอหนึ่งในคำแนะนำทั่วไป ซึ่งการทำสมาธิแต่ละอย่างจะมีคำแนะนำเฉพาะของตัวเอง แต่ในทุกกรณี ที่สำคัญมากคือ จะต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไร ต้องทำอย่างไร และทำไมเราจึงทำเช่นนั้น

มีประเพณีทางพุทธศาสนาบางอย่าง เช่น ในนิกายเซนที่กล่าวว่า “นั่ง ทำสมาธิ แล้วคุณจะเข้าใจได้ขณะที่ทำสิ่งนั้น” แม้ว่าสิ่งนี้อาจใช้ได้ผลกับบางคน แต่ก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนอื่น หลายคนพบว่าแนวทางนั้นยากมาก ดังนั้น สิ่งที่นำเสนอในที่นี้คือ การทำสมาธิตามแบบของอินเดีย-ทิเบต

Top